การจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม ให้กับประชากร นักท่องเที่ยวในเกาะพะงัน นอกจากจะจัดทำอ่างเก็บน้ำธารประเวศ อ่างเก็บน้ำธารเสด็จแล้ว ยังมีโครงการจัดทำเขื่อนใต้ดินอีกด้วย
ดร. กัมปนาท ขวัญศิริกุล นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า โครงการเขื่อนใต้ดิน เกาะพะงัน จะตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านโฉลกหล้าบ้านเก่า ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการออกแบบเป็นการก่อสร้างแนวกำแพงทึบน้ำ ยาว 1,161.40 เมตร หนา 0.80 เมตร ลึกจากผิวดิน 36 เมตร จะสามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้ได้ปีละ 150,000-180,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำทะเลและสามารถกักเก็บน้ำใต้ดินไว้ใช้ ไม่ให้ไหลลงทะเลในฤดูแล้ง
สำหรับเงื่อนไขในการก่อสร้างเขื่อนใต้ดิน ดร. กัมปนาท ระบุว่า มี 3 เงื่อนไข คือ ด้านธรณีวิทยา ต้องเป็นชั้นดินหรือหินแข็ง กรวด สามารถอุ้มน้ำไว้ได้, ด้านอุทกวิทยา จะต้องมีฝนตกเฉลี่ยต่อปีไม่ต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตร และด้านวิศวกรรม จะต้องตรวจสอบสภาพพื้นที่ก่อนสร้าง พื้นที่ต้องไม่มีสารเคมี หรือวารตกค้าง เนื่องจากเขื่อนใต้ดิน จะสามารถกำจัดของเสียได้ยากกว่าเขื่อนบนดิน
ดร. กัมปนาท เปิดเผยว่า เขื่อนใต้ดิน มีข้อดี คือ ไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างเขื่อน ประชาชนสามารถอยู่อาศัย ทำเกษตรกรรมได้ แต่มีเงื่อนไขคือจะต้องไม่ใช้สารเคมีในการทำเกษตรหรือถ้ามีการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีระบบการจัดการของเสีย โดยงบประมาณในการก่อสร้าง คือ 260 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้าง กรมชลประทานจัดทำความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำเขื่อนใต้ดิน หากทำสำเร็จที่เกาะพะงันจะเป็นแห่งแรก โดยก่อนหน้านี้กรมชลประทานเคยศึกษาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต แต่พบว่ามีความเจริญเติบโตของเมืองมากเกินไป พื้นที่ไม่เอื้ออำนวย พื้นที่เกาะพะงันจึงเหมาะสมกว่า
ขณะนี้ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมี 10 ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่จัดทำเขื่อน ซึ่งเป็นครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมทั้งหมด
....
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข