หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกอรปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างแนวทางในการดำเนินการ บริหารดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยคณะรัฐมนตรีเห็นควรให้มีการกำกับดูแล เหมือนสถาบันการเงิน เนื่องจาก ที่ผ่านมาไม่ได้รับการดูแลหรือเข้มงวดทำให้เกิดปัญหา จึงต้องมีการดูแลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้พบว่า กิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสินทรัพย์ ร้อยละ 87 ของระบบสถาบันการเงิน และเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับสหกรณ์ ไว้ 2 ประเภท ประกอบด้วย สหกรณ์ทั่วไป และสหกรณ์ขนาดใหญ่ ที่มีสินทรัพย์ มากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีความละเอียดเข้มงวดมากขึ้น สำหรับสหกรณ์ทั่วไป จะให้มีการถ่วงดุลอำนาจ ในสหกรณ์โดยการปล่อยสินเชื่อ ให้แยกเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ 1 คน และอนุมัติสินเชื่อ 1 คน จ่ายเงินปันผลไม่เกินร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิ จำกัดสัดส่วนสมาชิกสมทบของสหกรณ์ต้องเป็นบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิกเท่านั้น จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินทั้งหมด แก่สมาชิกเพื่อสมาชิกจะสามารถรู้ฐานะการเงินของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก รวมทั้งกำหนดให้กรรมการสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งได้ ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ปรับปรุงแนวทางการจัดชั้นสินเชื่อหรือสินทรัพย์ให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้และมีการกันสำรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสหกรณ์ พิจารณาเงินกู้ให้สมาชิกสมทบไม่เกินมูลค่าของเงินฝากและเงินค่าหุ้นของสมาชิกสมทบ และภาระหนี้ต่อรายได้ รวมสุทธิของสมาชิกรายใดรายหนึ่งไม่เกินร้อยละ 70 จัดประเภทและปริมาณหลักทรัพย์ ที่สหกรณ์สามารถฝากหรือลงทุน ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของส่วนผู้ถือหุ้น มูลค่าการลงทุนในหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณหุ้นกู้ของบริษัท และห้ามสหกรณ์ซื้อหรือมีอสังหาริมทรัพย์เว้นแต่ใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินกิจการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดความสามารถในการก่อหนี้ของสหกรณ์อัตราส่วนต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่า และ สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 6 ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม
ส่วนหลักเกณฑ์สำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ จะต้องมีคณะกรรมการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 3 คน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเงิน เป็นผู้จัดการสหกรณ์ รวมทั้งจัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อย เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อรับผิดชอบการตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ผู้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ตรวจสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังได้กำหนดอัตราการให้สินเชื่อ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กรรมการดำเนินการผู้บริหารระดับสูงของสหกรณ์ เพื่อจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้น และมีการเพิ่มเติมการกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อลงทุนต่อภาระหนี้ผูกพันหรือทำธุรกรรม โคหนึ่งไม่เกิน 100 เท่าของรายได้หรือการให้กู้แก่สหกรณ์ใด ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของส่วนของผู้ถือหุ้นหรือไม่เกิน 15 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการจัดทำประชาพิจารณ ์ก่อนจะนำร่างดังกล่าวมาใช้ ซึ่งจะนำหลักเกณฑ์ที่มีผลกระทบน้อยมาใช้ก่อน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบการดูแลสหกรณ์ โดยแยกการกำกับดูแล ออกจากการส่งเสริม และพัฒนาสหกรณ์ รวมทั้งมีการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของสหกรณ์
นอกจากนี้ยังอนุมัติ ร่างพ.ร.บ. สหกรณ์ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้เสนอมา โดยเน้นการกำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินการ ของสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้น โดยสมาชิกไม่ได้ประกอบอาชีพเดียวกัน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สมาชิก มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ มีหน้าที่ระงับแก้ไขการดำเนินการให้นายทะเบียนสหกรณ์สามารถกำหนดระบบบัญชี มาตรฐานการตรวจสอบบัญชี สมาชิกมีสิทธิ์ร้องเรียนต่อนายทะเบียน เพื่อดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องคดี ของสหกรณ์ได้ และดำเนินการพิจารณาการฟ้องร้องภายใน 30 วัน