ประชุม คสช.และ ครม./สปท.เสนอแนวทางปรองดองทางการเมือง

14 มีนาคม 2560, 07:15น.


ในวันนี้ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ตรวจการก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ณ บริเวณท้องสนามหลวงด้านทิศใต้ 



พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. เป็นประธานการประชุม คสช. และครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล



พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ “การขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ระหว่างกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา



ส่วนพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย  รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ณ จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2560



ที่รัฐสภาในวันนี้ มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.



ที่กระทรวงกลาโหม ยังมีการหารือเกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง โดย พรรคเมืองที่จะหารือกับพลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมในวันนี้ คือ พรรคคนไทย พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย  พรรคเมืองไทยของเรา และพรรคอนาคตไทย



นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือตรวจสอบการทุจริต การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)  5 เรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จากนั้นจะไปที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องเดียวกัน



พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.) จะเดินทางไปทวงถาม และให้เปิดเผยร่าง พ.ร.บ.ปิโตเลียมฯ และรัฐธรรมนูญ ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล



ประเด็นการเมืองในวันนี้ยังต้องติดตามข้อเสนอ ในการสร้างความปรองดองทางการเมือง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า กำลังสรุปรายงานแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้นคือการให้อภัยและการใช้กระบวนการทางกฎหมายแก้ปัญหาคดีความ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการกลาง แก้ปัญหาคดีอาญาและคดีแพ่ง รวมทั้งให้อัยการใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องหากเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือมีผลกระทบต่อความมั่งคงความปลอดภัย แต่มาตรการนี้ไม่รวมถึงความผิดมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และคดีทุจริต ส่วนคดีแพ่ง จะเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้จะเสนอให้ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับไปพิจารณาต่อไป



แลยังมีกรณีที่มีพนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่ง ย่านซอยอารีย์ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นายอนุสร จิรพงศ์ สมาชิก สปท. ในข้อหาทำร้ายร่างกาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนายอนุสร อ้างว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายรุนแรง ส่วน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่หนึ่งในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปท. (วิป สปท.) กล่าวว่า บุคคลจะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ และ สปท. มีคณะกรรมการจริยธรรมในการตรวจสอบพฤติกรรมของสมาชิกอยู่แล้ว



ส่วนกรณีที่มีผู้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยกล่าวหาว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ทำให้ผู้คนล้มป่วยและตาย และ กฟผ. อยากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่แยแสถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น นางสาวปราณี ตั้งเสรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสำนักกฎหมาย กฟผ. กล่าวว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทและสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งเจตนาทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ กฟผ. จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วรวม 15 คดี อย่างไรก็ตามยืนยันว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินกิจการสาธารณะ การติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานในทางสุจริตจึงเป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปย่อมกระทำได้ แต่หากการติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ที่จะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือเป็นการแพร่หรือข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับการดำเนินงาน โดยมีเจตนาทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชน ส่อไปทางที่จ้องทำลายและทำให้เกิดความเสียหาย กฟผ.จำเป็นต้องดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย 



...

ข่าวทั้งหมด

X