ผลักดันอู่ตะเภาเป็นมหานครการบิน/ธ.โลกแนะไทยปฏิรูปการศึกษาขจัดความยากจน

14 มีนาคม 2560, 08:20น.


เมื่อวานนี้มีการประชุมนัดแรก ของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมต้องการให้มีการดำเนินโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเร็วที่สุด และจะมีกำหนดการนำเสนอกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คนพ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 5 เมษายนนี้ ใน 5 โครงการลงทุนหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ และการพัฒนาเมืองใหม่



น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ทั่วประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีจำนวน 5,751 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และมี ทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 12,030 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนต่างๆ และมาตรการผลักดันให้ธุรกิจเข้าระบบการค้า โดยธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมาคือ ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ



ปัญหาหมอกควันและไฟป่า เมื่อวานนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อคลี่คลายปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง กำชับกองทัพภาคที่ 3 ควบคุมสถานการณ์ และเข้มงวดมาตรการ ไม่ให้มีการเผาป่า พร้อมให้เตรียมเดินหน้าโครงการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในฤดูฝน รวมถึงเน้นการบริการจัดการน้ำให้เพียงพอ



นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์แล้งปีนี้ยังว่าไม่รุนแรง ส่วนที่มีอุณหภูมิร้อนมากจะเป็นบางช่วง และคาดการณ์ว่าปีนี้ฝนจะมาเร็ว แต่ก็ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เกษตรกร ชาวนาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกไม่อาศัยน้ำจากระบบชลประทานเพียงอย่างเดียว โดยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน



ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกวันนี้ นัดสืบพยานโจทก์ คดีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปธ.มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ฟ้องธาริต เพ็งดิษฐ์ หมิ่นประมาทในสมัยดำรงตำแหน่งรองนายก ที่กล่าวหาว่า แทรกแซงและมีผลประโยชน์เกี่ยวกับการจัดประมูล การสร้างโรงพักทั่วประเทศ



ส่วนการติดตามจับกุมพระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร ซึ่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิเผยว่า หากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สงสัยว่าพระธัมมชโยจะไปหลบซ่อนอยู่ใดก็สามารถขอหมายค้นเข้าตรวจค้นได้ เพื่อจับกุมตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม



ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏชัดเจนแล้วก็คือ พระธัมมชโยไม่ได้อาพาธอย่างที่ลูกศิษย์ได้กล่าวอ้างก่อนหน้านี้ และยังไม่พบข้อมูลว่าออกนอกประเทศ



ที่กองบังคับการปราบปราม ถ.พหลโยธินวันนี้ พนักงานสอบสวน สภ.ชะอำ จะส่งมอบสำนวนคดีกลุ่มวัยรุ่นร่วมกันบุกเข้าไปรุมทำร้ายและฆ่า นายธีระพงษ์ ฐิตะญาณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.ศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ในหอพัก ให้กับ พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผงก.ป. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกองปราบปราม หลังจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. มีคำสั่งให้โอนคดีมายังกองปราบปราม เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา



ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย จะยื่นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับการที่มีผู้ปกครองของผู้ถูกกล่าวหาแนะนำให้ผู้ต้องหาทั้ง 18 รายให้การปฏิเสธ โดยจะยืนต่อ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และสอดคล้องกับคลิปเสียงสนทนาระหว่างผู้ต้องหา ที่ส่งมอบไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา



นายบุญเทียม โชควิวัฒน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะแถลงข่าวเกี่ยวกับการจับกุมนอแรดจำนวน 21 นอ น้ำหนัก 49.4 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 173 ล้านบาท ที่สำนักงานศุลกากร อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ



และปิดท้ายที่รายงานของธนาคารโลกของนายอุลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อง “กลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศของไทย ระบุว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2557 เศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตในระดับสูง แต่จากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาให้กับประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง กัมพูชา และเวียดนาม ไล่ตามประเทศไทยได้ทันทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา นวัตกรรม ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และการดำเนินธุรกิจที่มีความซับซ้อน



ซึ่งนายลารส์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านการพัฒนามนุษย์และความยากจน ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอ 3 แนวทางสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้ประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง และยั่งยืน ประกอบด้วย การสร้างงานที่ดีและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และการลดกฎระเบียบข้อบังคับ มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ และเพิ่มทักษะของกำลังแรงงาน, ดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร สร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ฉลาด และมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแก่คนยากจน ทั้งต้องส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และสะอาดที่สำคัญคือต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรภาครัฐ เพื่อดำเนินการตามลำดับความสำคัญในการปฏิรูป



...



 

ข่าวทั้งหมด

X