หลังการหารือในเวทีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พลอากาศตรีรังสรรค์ เยาวรัตน์ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า กลุ่มนปช. ไม่ได้มีการเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมและการยกเลิกการใช้คำสั่งมาตรา44 รวมถึงคำสั่งอื่นๆแต่อย่างใด เพียงแต่ตอบคำถามถึงข้อคิดเห็นเสนอ แนวทางสร้างความปรองดอง 10 ประเด็นเท่านั้น โดยเห็นว่าทางกลุ่มนปช.มีความจริงใจและมุ่งมั่นในการสร้างความปรองดอง
ตั้งแต่วันที่13มีนาคมจนถึงขณะนี้ มีพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือแล้วกว่า 7พรรคการเมือง กับ1กลุ่มการเมือง คือกลุ่มนปช. ซึ่งบรรยากาศมีความเป็นกันเองและมีความมุ่งมั่นจริงใจที่จะทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองอย่างแท้จริง และที่ผ่านมาทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งศึกษาข้อมูลมาอย่างดีด้วย หลังจากนี้คณะอนุกรรมการชุดนี้ก็จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ส่งไปให้คณะอนุกรรมการขั้นที่2เพื่อบูรณาการ สร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป
สำหรับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองได้ให้ข้อคิดเห็นในประเด็น10ประเด็น ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เรื่องของการเมืองต้องแก้ด้วยการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตย และ ควรสร้างความเข้มแข็งและให้ความรู้กับประชาชน เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจในระบบการเมือง พร้อมสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจ ลดกลไกทางการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกการปลดล็อคทางการเมืองให้ง่ายขึ้น ซึ่งที่สำคัญจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตยด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เห็นว่ายังมีอยู่ในทุกมิติของสังคม จึงต้องแก้ปัญหาของความยากจน และการกระจายรายได้ รวมถึงลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ดังนั้นต้องมีกลไกของรัฐช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ง่ายขึ้น โดยเสนอให้นำระบบของสหกรณ์มาใช้ในการแก้ปัญหา ตั้งแต่ระบบฐานรากขึ้นไป
ขณะที่เรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เห็นว่าควรที่จะมีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องยึดโยงกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและความเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานของสากล
ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติระยะ20ปี จะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและประเมินผลเป็นระยะๆ สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น เห็นว่า สื่อมวลชนจะต้องมีความสามัคคีปรองดองกัน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำเสนอข่าวทางสร้างสรรค์กับสังคม ควรที่จะมีการปฏิรูปสื่อ มีกลไกกำหนดมาตรฐานสื่อ พร้อมเห็นว่าประชาชนที่เป็นผู้บริโภคสื่อจะเป็นผู้ตัดสินสื่อเองว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม วันที่ 17 มีนาคม จะเป็นกลุ่มของกปปส. เข้ามาหารือ หลังจากนั้นจะเชิญในส่วนของภาคประชาสังคมเข้ามาหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต่อไป
ผสข. ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ