ล่องแพยามเช้าที่พะโต๊ะ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของเมืองต้องห้าม(พลาด)ชุมพร

19 มีนาคม 2560, 09:45น.


วันที่สามในการมาสำรวจแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร วันนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พามาร่วมกิจกรรมล่องแพพะโต๊ะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีมาอย่างช้านาน เป็นกิจกรรมเชิงอนุรักษ์


 




 


นายจักรกฤช อินทร์คำ หรือ พี่ขุน ลูกชายเจ้าของแพมาลิน เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลาที่เหมาะกับการล่องแพมากที่สุด คือ กุมภาพันธ์ - เมษายน โดยการล่องแพที่พะโต๊ะ จะมีเอกลักษณ์ในเรื่องการล่องลำน้ำพะโต๊ะชมสวนผลไม้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม จะมีกิจกรรมล่องแพกินผลไม้ และจะแวะตามสวนผลไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อผลไม้ราคาถูกกลับบ้าน 


 




 


ในอำเภอพะโต๊ะ ชาวบ้านทั้งหมดจะมีอาชีพชาวสวน ในอดีตจะมีผลไม้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลองกอง ลางสาด (ที่ปัจจุบันเริ่มจะสูญหายไปมาก) มังคุด ทุเรียนหมอนทอง แต่ในช่วงหน้าผลไม้ราคาตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ บางส่วนจะหันมาปลูกปาล์ม และยางพารา 


 


นายจักรกฤช เล่าต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ใหญ่ที่สุดในรอบ 85 ปี ทำให้เกิดน้ำหลาก พัดพาต้นไม้ ดินทราย และซัดตลิ่งไปเกือบทั้งแถบ ทำให้วิสัยทัศน์ในการมองเห็นระหว่างล่องแพ แตกต่างไปจากอดีต เราจะพบกับซากต้นไม้และตลิ่งพังในบางจุด หากเป็นในอดีตจะมีความสวยงามเป็นอย่างมาก มีคุ้มไม้ไผ่ที่สวยงาม คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน ที่แห่งนี้จะกลับคืนมาสู่สภาพเดิม 


 


สำหรับระดับน้ำในลำน้ำพะโต๊ะ จะไม่ลึกมาก ในบางจุดสามารถยืนได้ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องความปลอดภัย นายจักรกฤช ระบุว่า ตั้งแต่ทำกิจการล่องแพมากว่า 20 ปี ยังไม่เคยมีใครเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ และผู้ที่มาล่องแพ สามารถเลือกเวลาได้ว่าจะล่องกี่ชั่วโมง โดยลำน้ำพะโต๊ะ จะเชื่อมต่อไปถึงทะเล หากล่องแพจากจุดนี้ไปถึงทะเล ใช้เวลา 2 วัน 


 


หลังจากล่องแพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ขึ้นฝั่งมาทำอาหารถิ่น ซึ่งทางแพมาลิน จัดเตรียมอาหารไว้ต้อนรับ มีแกงส้มหมูสามชั้นหยวกกล้วยป่า อาหารที่ทำมาจากผักกูด น้ำพริกลงแพ ปลาทูทอด แกงเรียงผักรวม และมีการหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ป่า โดยใช้ใบคลุ้มซึ่งจะมีเฉพาะภาคใต้ เท่านั้น และไม้ไผ่ป่า จะมีลักษณะเป็นปล้องใหญ่ สามารถบรรจุข้าวที่ห่อด้วยใบคลุ้มได้กว่า 40 ห่อเลยทีเดียว 


 


 




 


การหุงข้าวด้วยใบคลุ้ม และใส่กระบอกไม้ไผ่ จะทำให้ข้าวที่ได้หอมกลิ่นใบคลุ้ม ไม้ไผ่และกลิ่นถ่าน สำหรับการหุง จะใช้วิธีเผา ใช้เวลาประมาณ 40 นาที 


 




 


สำหรับชุมชนพะโต๊ะ อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ มีการช่วยกันดูแล ปกป้องและอนุรักษ์ รวมทั้งจัดการการท่องเที่ยวจนได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆ รวมถึงได้รับรางวัลดีเด่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จาก ททท. ด้วย จังหวัดชุมพร จึงไม่ใช่จังหวัดทางผ่านอย่างที่หลายคนเข้าใจ มีความหลากหลายในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว อาหารทะเลสด สะอาด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปะการัง และยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำที่เหมาะกับการล่องแพ และมีอาหารถิ่นที่หลากหลาย และยังอร่อยอีกด้วย


...


 


ผสข.สมจิตร์ พูลสุข
ข่าวทั้งหมด

X