พิธีลงนามบันทึกความว่าด้วยความร่วมมือเพื่อพัฒนากิจการประปา เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ระหว่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย โดยนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน และนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค เป็นผู้ลงนาม โดยนายสัญชัย กล่าวว่า กรมชลประทาน มีภารกิจในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ตามศักยภาพ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการใช้น้ำทุกภาคส่วน ซึ่งนับวันจะมีการใช้น้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และจากสถิติปี 2557 ความต้องการในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมีมากถึง 6,490 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าในปี 2570 ความต้องการใช้น้ำ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8,260 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปีและยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี เพื่อให้น้ำมีใช้อย่างเพียงพอ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยไม่ขาดแคลน และความร่วมมือดังกล่าว ก็เป็นการเสริมสร้าง การทำงานของ 2 หน่วยงาน ในการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนต่อไป
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ นายสัญชัย ระบุว่า จะไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 34 แห่ง และขนาดกลางอีก 400 กว่าแห่ง มีน้ำเกือบ 8,000 พันล้านลบ.ม. ซึ่งดีกว่าปีที่แล้วมาก ยืนยันว่าเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเพียงพอไปถึงช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นเดือนที่เข้าสู่ช่วงฤดูฝนตกชุกพอดี ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาล มีนโยบายให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม ส่วนช่วง 2-3 ปีที่แล้ว สามารถเพิ่มน้ำได้ถึง 1,000 ล้านลบ.ม. และมีอาคารชลประทานเพิ่ม 2,000 กว่าแห่ง ส่วนภาคเกษตรกรรมที่ขณะนี้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ 7.46 ล้านไร่ จากที่กำหนดไว้ 4 ล้านไร่ นายสัญชัย ระบุว่า แม้ขณะนี้ สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผน และพบว่า เกษตรกรที่ปลูกเกินมาบางแห่งมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังและขอความร่วมมือ ในการงดปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติมอีกเนื่องจากหากเกิดปัญหาจะเกิดความเสียหายต่อพืชผล ขอให้อดใจรอ เพราะอีกไม่ ถึง 2 เดือน ก็จะเข้าสู่ฤดูการปลูกข้าวนาปี ในวันที่ 1 พฤษภาคมแล้ว
ด้านนายเสรี ขอย้ำว่าปริมาณน้ำในการอุปโภคบริโภคเพียงพอ ในฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน แต่ที่ผ่านมายังมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปา จึงได้มีความพยายามหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตและจ่ายน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับการลงนามครั้งนี้ จะมีกรอบการดำเนินการ ของ 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันแบบบูรณาการทั้งในด้านการบริหารจัดการน้ำ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โครงการแผนจัดการน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา การก่อสร้างระบบประปาในเขตชลประทาน และการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในกรณีวิกฤต
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี