วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่กรมชลประทาน พามาเยี่ยมชมโครงการเดินตามศาสตร์พระราชา เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานสร้างสมดุลน้ำลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง ซึ่งในวันนี้พามาที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ว่าน้ำในจังหวัดชัยนาทส่วนใหญ่จะมาจากพื้นที่ตอนบน และจังหวัดชัยนาทจะมีการใช้น้ำจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทานมีการจัดสรรน้ำเข้าไปในเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าร้อยละ 85 เพื่อสนับสนุนการทำนาปรังครัังที่ 2 ที่กำลังจะสิ้นสุดประมาณวันที่ 30 เมษายนนี้ รวมถึงจะมีการกักเก็บน้ำอีกมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไว้สนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา 2 ล้าน 7 แสนไร่ โดยยืนยันว่าน้ำที่สำรองไว้มีเพียงพอ แต่ในพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้วนั้นก็ต้องให้ความร่วมมือไม่ปลูกนาปรังครั้งที่ 3 หรือหากจะทำการเพาะปลูกก็ควรเป็นพืชที่มีอายุน้อยกว่า 10 สัปดาห์ มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ เพราะฝนอาจทิ้งช่วงได้ และจะส่งผลกระทบต่อฤดูแล้งของปีถัดไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เฝ้าระวังแล้ว
ขณะเดียวกันกรมชลประทานมีแผนบูรณาการพื้นที่ทุ่งน้ำเจ้าพระยาสู่ความยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มเจ้าพระยา เพราะระบบชลประทานที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมานานกว่า 60 ปี ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบให้ปรับปรุงระบบชลประทานทั้งระบบ เพื่อสามารถใช้ได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงแก้ไขปัญหาพื้นที่รอบคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เพราะช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ 14 พื้นที่ ประสบปัญหาน้ำท่วม กรมชลประทานจึงร่วมกับกรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมทางหลวงชนบท กำหนดให้พื้นที่เหล่านี้มีการเฝ้าระวังและที่สำคัญต้องร่วมกันปกป้องให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย
สำหรับการปรับโครงสร้างของระบบชลประทานในทุ่งเจ้าพระยาในรอบ 60 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารน้ำ กรมชลประทานมีแผนปรับระบบชลประทานตั้งแต่ท้ายแม่น้ำป่าสักลงไป โดยเพิ่มขีดความสามารถการระบายน้ำอีก 2 เท่า เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนและน้ำหลากที่มาจากทางเหนือของจังหวัดชัยนาท ส่วนคลองที่อยู่บริเวณโดยรอบก็จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ ถือว่าเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ แม้ฝั่งตะวันตกจะมีข้อจำกัดที่อาจจะมีปัญหาในระบบสิ่งก่อสร้างก็ตาม กรมชลประทานก็จะพยายามปรับปรุงระบบการจัดการน้ำให้สามารถรับน้ำจากตอนบนลงตอนล่างได้มากถึง 2-5 เท่า นอกจากนี้ จะมีการขุดคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเลี่ยงอำเภอพระนครศรีอยุธยา โดยความยาวของคลองจะมีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร ในการระบายน้ำได้ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้กรมชลประทานได้ร่วมกับกรมทางหลวงในการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคที่จะใช้ถนนวงแหวนช่วงที่ 3 ตั้งแต่ช่วงบางปะอินลงไปจนถึงอ่าวไทย โดยศึกษาว่าจะใช้คลองระบายน้ำคู่ขนานไปกับถนนได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในการปรับโครงสร้างและปรับระบบการจัดการน้ำทั้งหมด
....
ผสข.ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ