ข้อจำกัดในการใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมรับว่า พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่สามารถทำได้เฉพาะเวลาที่มีแสงแดดที่เพียงพอเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาของเทคโนโลยีค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยของพลังงานหมุนเวียน มีราคาสูงตามไปด้วย จึงเหมาะสำหรับผลิตไฟฟ้าเสริมให้กับระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ กฟผ. จึงร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยและพัฒนาถึงความเป็นไปได้ในการนำหญ้าเนเปียร์ มาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่โตเร็ว ปลูกง่าย ใช้ปุ๋ยและน้ำไม่มาก เก็บเกี่ยวได้ทุก 60 วัน โดยใช้พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับโรงไฟฟ้าระบบก๊าซชีวภาพ ขนาดกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก เป็นโครงการที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน โดยในอนาคต กฟผ. จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาผลิตไฟฟ้า ด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบผสมผสาน โดยจับคู่แหล่งผลิต ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ในรูปแบบ Hybrid รวมทั้งจะมีการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) มาใช้กับการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และพื้นที่ของโรงไฟฟ้าทับสะแก ยังเหลืออีกมาก ในอนาคตจะมีโครงการอื่นๆ อีก แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นโครงการอะไร ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ หลังจากที่รัฐบาลมอบหมายให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูล รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางคสช. มอบหมายให้นิด้า เป็นผู้ทำการสำรวจ ซึ่งล่าสุดยังคงค้องรอข้อสรุปจากนิด้าก่อน แล้วจึงจะเสนอไปยังรัฐบาล ตนยังให้คำตอบอะไรไม่ได้
ส่วนการนำก๊าซ LNG มาใช้เพื่อเป็นพลังงานทดแทนพลังงานที่มีอยู่ ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน
...
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข