องคมนตรี ติดตามโครงการระบายน้ำรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และการบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออก

29 กันยายน 2560, 16:12น.


การดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออกของโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ รับฟังการบรรยายสรุปโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสรุปผลการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออกของโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมกับตรวจเยี่ยมการดำเนินงานระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งประกอบด้วย เขื่อนดิน อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ และเยี่ยมชมการระบายน้ำที่สะพานน้ำสุวรรณภูมิ





เนื่องจาก ปัญหาอุทกภัยทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องรองรับน้ำระบายออกสู่ทะเล โดยให้คำนวณบริหารจัดการน้ำโดยหลีกเลี่ยงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และหลีกเลี่ยงการสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงน้ำทะเลหนุน ให้พิจารณาระบายน้ำออกทางด้านข้างทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยไม่ให้ระบายน้ำผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว ระบายไปลงตรงปลายคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และเนื่องจากระยะทางจากคลองประเวศ ไปถึงอ่าวไทย มีความลาดเทน้อยก็อาจทำสถานีสูบน้ำที่คลองสำโรง เร่งทยอยสูบน้ำเป็นขั้น ๆ ลงสู่ทะเล และการระบายน้ำบริเวณหนองงูเห่าให้พิจารณาขุดคลองระบายน้ำ โดยมีขนาดที่เหมาะสมและไม่ใช่เพื่อระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ แต่รวมบริเวณรอบ ๆ ด้วย





จากแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำออกเป็น 3 ส่วน คือการบริหารจัดการน้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมจากน้ำหลากโดยการทำคันกั้นน้ำเป็นเขื่อนดินล้อมรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ความยาว 23.5 กิโลเมตร ความสูงสันเขื่อนที่ระดับ 3.50 เมตร เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่ภายในพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับจัดทำระบบระบายน้ำฝน ประกอบด้วย ระบบระบายน้ำภายใน ทำหน้าที่รับน้ำฝนที่ตกภายในพื้นที่ท่าอากาศยานและเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายออกสู่ภายนอก ระบบสูบระบายน้ำ โดยจัดตั้งสถานีสูบระบายน้ำขึ้นจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีสูบน้ำฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก พร้อมก่อสร้างคันกั้นน้ำปิดล้อมพื้นที่เพื่อป้องน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง และระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยจัดทำท่อระบายน้ำ คู คลอง สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ แก้มลิงในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องน้ำท่วมฯ



 





การบริหารจัดการน้ำสุรรณภูมิ จัดทำโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2548 แล้วเสร็จ ในปี 2553 เพื่อเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงออกสู่ทะเลโดยตรง ลดปริมาณน้ำบริเวณพื้นที่รอบ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากคลองสำโรงเป็นแนวรับน้ำที่สำคัญเพราะเป็นแนวป้องกันปริมาณน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ด้านใต้คลองสำโรง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางปู โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณแนวถนนเทพารักษ์ ที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการต่างๆ





สำหรับการระบายน้ำที่สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ จะพิจารณาระดับน้ำในคลองสำโรง และระดับน้ำที่ด้านหน้าสถานีเป็นหลัก ปัจจุบันโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 140 ตารางกิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลากและอุทกภัยในพื้นที่จาก 10 วัน เหลือ 2 วัน รวมถึงลดปัญหาการจราจรของจังหวัดสมุทรปราการในการใช้ถนนที่เชื่อมโยงถนนสุขุมวิท-เทพารักษ์ และถนนบางนา-ตราด นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำจืดสำรองเพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกด้วย 





ทั้งนี้นายจรัลธาดา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับสั่งให้ติดตามโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อติดตามโครงการให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย





สำหรับพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ลุ่ม ซึ่งหากเกิดปัญหาฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในสนามบินได้ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงเป็นโครงการที่นอกจากจะสามารถระบายน้ำออกจากกรุงเทพลงมาแล้วยังสามารถ ระบายน้ำในสนามบินสุวรรณภูมิไม่ให้ท่วมได้ จึงถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงในช่วงหน้าแล้งยังมีส่วนช่วยในการระบายน้ำไปใช้ในภาคการเกษตรโดยเฉพาะการเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของเกษตรกรในพื้นที่



ด้านนายวิชาญ อุยขำ ประธานชุมชนคลอง 4 เจริญราษฎร์ เปิดเผย ว่า ส่วนตัวเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ โดยตนเองประกอบอาชีพเลี้ยงปลา หลังจากมีโครงการทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ดีขึ้น จากแต่ก่อนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง และหลังจากนี้ไปตนเองและประชาชนในพื้นที่จะช่วยดูแลรักษาคลองให้สามารถเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อไป





 



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี



 

ข่าวทั้งหมด

X