กลัวถูกฟ้อง!ไทยส่อจะรับเนื้อหมู-เครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐ

09 ตุลาคม 2560, 20:34น.


ไทยถูกกดดันจากสหรัฐฯ ให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดง นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยยังไม่ได้อนุญาตให้นำเข้า เพราะต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และผู้บริโภค



 ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) และองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) จึงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เพราะโคเด็กซ์ มีมติเมื่อเดือนก.ค.55 กำหนดปริมาณสารเร่งเนื้อแดงตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในเนื้อหมู 4 ชนิด คือ กล้ามเนื้อ ไขมัน ตับ และไต ทำให้สหรัฐฯ แคนาดา ผลักดันให้ไทยยกเลิกห้ามนำเข้าหมู และผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง และเปิดให้นำเข้าได้ในระดับที่ไม่เกินที่โคเด็กซ์กำหนด  ส่งผลให้ไทยต้องมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นประเทศการค้า และเป็นสมาชิก หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้



ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนกันยายนปีนี้ กลุ่มคนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กว่า 100 คน นำโดยนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ได้ถือป้ายข้อความต่อต้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ โดยระบุว่า  ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือ มีผู้ประกอบกการเลี้ยงสุกรรายใหญ่ 10 ราย และรายเล็ก 200 กว่าราย มีสุกรแม่พันธุ์อยู่ประมาณ 50,000 ตัว และออกลูกปีละ 18 ตัวต่อหนึ่งแม่พันธุ์  มีราคาขายอยู่ที่ตัวละ 5,000 บาท ขณะที่ราคาขายหมูมีชีวิตที่พร้อมจำนำไปฆ่าชำแหละ ขายราคาทุนอยู่ที่ 56 บาท/กิโลกรัม  และราคาขายสู่ตลาด 57-58 บาท/กิโลกรัม  ซึ่งหากมีการนำเข้าจากสหรัฐย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรแน่นอน อีกทั้งหมูจากสหรัฐที่จะนำเข้านั้นเป็นพวกชิ้นส่วน เครื่องใน หมูสามชั้น เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือ แรคโตฟามีน ซึ่งในประเทศไทยห้ามใช้สารชนิดนี้ ซึ่งจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้



นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอตช์) กล่าวว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า หากไทยไม่ทำตามมาตรฐานโคเด็กซ์ เรื่องอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงเลี้ยงหมู และมีตกค้างได้เล็กน้อย อาจเสี่ยงถูกคู่ค้าฟ้องร้องนั้น ถือว่าพูดความจริงไม่หมด แม้สหรัฐฯ มีสิทธิ์ฟ้องร้องไทย แต่โอกาสชนะแทบไม่มี เพราะมีมาตรา 2.2 และ 2.4 ในความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ที่ผูกพันไว้กับดับบลิวทีโอ กำหนดให้สมาชิกคุ้มครองตนเองได้ตามความจำเป็น เพื่อคุ้มครองชีวิต สุขภาพ และความปลอดภัยของมนุษย์ สัตว์ และพืช สำหรับ สาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องการกดดันไทยให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องใน เพราะต้องการขายเครื่องในมายังประเทศอื่น เนื่องจากคนอเมริกันไม่บริโภคเครื่องใน โดยสารเร่งเนื้อแดงจะตกค้างในเครื่องในมากกว่าเนื้อ



ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยแก้ไขปัญหาด้วยการนำเครื่องในไปทำอาหารสัตว์ จนทำให้เกิดโรควัวบ้า และต้องหยุดใช้เครื่องในมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ จึงหาทางระบายมายังประเทศอื่นๆ



 



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X