กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ กรมการแพทย์และสถาบันประสาทวิทยา จัดเสวนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก ให้แก่วิทยากร อบรมผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถของกรมการขนส่งทางบก และผู้ฝึกสอนขับรถจากโรงเรียนสอนขับรถ ที่กรมการขนส่งทางบก ให้การรับรอง เพื่อนำไปถ่ายทอด หรือแทรกเนื้อหาในชั่วโมงอบรมภาคทฤษฎี สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับขี่
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่ ยังคงขับขี่รถบนท้องถนน โดยขาดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงอันตราย ทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมกับยังไม่มีกฎหมายข้อบังคับไม่ให้ผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ขับรถ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาใบอนุญาตขับรถ จึงร่วมมือกับกรมการแพทย์ และสถาบันประสาทวิทยา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชักให้แก่ผู้ทำหน้าที่อบรมผู้ที่ขอรับใบอนุญาตขับรถ ทั้งจากโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรอง และบุคลากรของกรมการขนส่งทางบกในทุกส่วนงานที่เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขับรถ ให้มีความเข้าใจอาการของโรคลมชัก รับรู้ถึงอันตรายและความเสี่ยงของโรค การให้ความช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถทุกประเภท
ด้านนายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงใบรับรองแพทย์ เกี่ยวกับข้อมูลโรคประจำตัว หากผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก จะต้องระบุเอาไว้ชัดเจน พร้อมกับการรับรองจากแพทย์ผู้ตรวจ หากผู้ป่วยอยู่ในการดูแลของแพทย์ เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีอาการชัก สามารถนำใบรับรองแพทย์มาขออนุญาตสอบใบขับรถได้ เช่นในสากลจะอนุญาตให้ผู้ป่วยโรคลมชัก ที่มีการควบคุมรักษาต่อเนื่อง และไม่มีอาการชักภายในระยะเวลา 1ปี จะสามารถสอบใบอนุญาตขับรถได้
สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก คือการป้องกันผู้ป่วยจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ หากผู้ป่วยมีอาการจะหมดสติทันที ล้ม ตาเหลือก ชักเกร็งกระตุกทั้งตัวนาน 2-5นาที สำหรับการปฐมพยาบาล พลิกตัวให้นอนตะแคง ไม่งัดขากรรไกรหรือใส่ของแข็งในปาก ไม่ต้องผูกมัด ปลุกเรียกหรือตีผู้ป่วยระหว่างชัก ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพัง ไม่ให้รับประทานสิ่งใดในระหว่างชัก ดูแลอาการสับสนหลังชัก และไม่เร่งให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินในช่วงฟื้น ควรปล่อยให้นอนพักเท่าที่ต้องการ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การกำหนดให้โรคลมชักเป็นหนึ่งในโรคกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถ ยังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกับ กรมการขนส่งทางบกและแพทยสภา เพื่อปรับปรุงร่างกฎกระทรวง กำหนดรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ ให้สามารถกลั่นกรองผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ สำหรับโรคในกลุ่มเสี่ยงอาจมีการกำหนดเพิ่มเติม เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันสูง โรคลมบ้าหมูหรือลมชัก ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจ ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เพื่อคัดกรองผู้ขับรถได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ถนนรายอื่น
ผู้สื่อข่าว: วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์