กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรแกนนำไครเมีย 7 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงประชามติแยกตัวออกจากยูเครนเมื่อวันที่ 16มี.ค. รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนามข้อตกลงกับรัสเซีย เพื่อแยกไครเมียออกจากยูเครนด้วย โดยมาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากรัสเซียขู่ยุติการจ่ายก๊าซให้แก่ยูเครน เว้นแต่ยูเครนจะจ่ายหนี้ค้างชำระ ขณะที่นายเดวิด โคเฮน ปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ รับผิดชอบข่าวกรองทางการเงินและการก่อการร้าย ระบุว่า ไครเมียเป็นดินแดนถูกยึดครอง ดังนั้น สหรัฐฯ จะต้องดำเนินมาตรการคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน สำหรับบุคคลที่เป็นเป้าหมายการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ซึ่งหมายรวมถึงการมีรายชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปด้วยนั้น ประกอบด้วย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไครเมียในรัฐสภารัสเซีย และเป็นผู้ช่วยปูทางให้เกิดการลงประชามติในไครเมียเมื่อเดือน มี.ค. และนำไปสู่การผนวกรวมกับรัสเซียในเวลาต่อมา นายกเทศมนตรีเมืองเซวาสโทโพล ซึ่งลงนามข้อตกลงผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซีย รองนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่จัดการเลือกลงประชามติแยกไครเมียอีก 2 คน อดีต ผอ.สำนักงานความมั่นคงของยูเครน ซึ่งปัจจุบันเป็น ผอ.สำนักงานความมั่นคงไครเมีย ซึ่งให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะภักดีต่อรัฐบาลชุดใหม่ของไครเมีย และบริษัท "เชอร์โนมอร์เนฟเตแกซ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแก๊สที่ถูกสภาไครเมียอายัดทรัพย์ และขณะนี้อยู่ภายใต้การบริหารโดยรัสเซีย ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรรอบแรกไปเมื่อเดือน มี.ค. โดยขึ้นบัญชีดำไม่ออกวีซาและอายัดทรัพย์สินเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ยังเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ ประกาศจัดการเจรจา 4 ฝ่าย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ยูเครน และรัสเซีย ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 17 เม.ย.นี้