การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุชนท้ายบนทางหลวง ที่ปัจจุบันเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมากที่สุด นายปณิธิศร์ เอื้อสุดกิจ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กล่าวว่า ในรอบ 5 ปี เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้บ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี 2557 ถึง ปี 2561 ครองแชมป์มาถึง 8 ปี จากการขับขี่ด้วยความเร็วสูง และขับขี่จี้หรือประชิดท้ายรถคันหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิต สูงสุด 2 คนต่อวัน หรือ ในช่วง 5 ปี เกิดเหตุเช่นนี้ ปีละ 10 ครั้ง เป็นปัญหาหลักที่ควรได้รับการแก้ไข พร้อมเสนอวิธีการป้องกัน 3 วิธีเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัย รักษาวินัยการจราจรด้วยการขับขี่ความเร็วไม่เกิน 50-80 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง หรือต่ำกว่านั้น จากนั้นลดการเสียชีวิตด้วยการใช้รถที่มีถุงลมนิรภัย และลดการเสียชีวิตด้วยการติดตั้งป้ายเตือนภัยให้รักษาระยะห่างอย่าน้อย 2 จุด ห้ามกระชั้นชิด
สำหรับมาตรการด้านวิศวกรรมสำหรับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการชนท้ายบนทางหลวง นายอำพล การุณสุนทวงษ์ ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า ควรใช้หลักวิศวกรรมจราจร ประยุกต์ใช้เครื่องหมายบนผิวจราจร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้เว้นระยะห่างระหว่างรถตัวเองกับรถคันหน้าอย่างเพียงพอ ควรมีลักษณะแบบ “Transverse Bar” ที่มีระยะห่างปลอดภัย 47 เมตร หักลบความยาวรถคันหน้า 5 เมตร สายตามองเห็น 4.5 เมตร และความกว้างของเครื่องหมาย แต่ละแถบเป็นระยะ 37 เมตร และควรติดตั้งเป็นระยะทาง 5 กม. 3 ชุด ชุดละ 20 แถบ พร้อมติดตั้งป้าย 2 แบบ เว้นระยะ 50 เมตร จากคันหน้า และเว้นระยะ 2 แถบ จากคันหน้า เพื่อช่วยเตือนผู้ขับขี่ทราบถึงระยะห่างที่ปลอดภัย ในการขับรถตามกันและจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการชนท้าย
โดยกรมทางหลวงได้นำแนวทางนี้ ไปทดสอบ กับถนนสายพระราม 2 กม. 23-28 โดยเริ่มติดตั้งเครื่องหมายนี้ใน ปี 2561 ผลปรากฏว่า อุบัติเหตุชนท้ายลดลงเหลือเพียง 3 ครั้งต่อปี และหลังจากนี้จะมีการหารือกับกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำเครื่องหมายดังกล่าวเป็นรูปแบบสำหรับแนะนำผู้ขับขี่ต่อไป