เป็นค่านิยมของสังคมยุคใหม่ไปเสียแล้ว กับการพบเจอเรื่องราวใด ๆ ที่ไม่พอใจ ถูกแซงคิว รถถูกปาดหน้า ฯลฯ หรือถูกทำให้โกรธ ผิดหวัง ก็มาโพสต์ระบายอารมณ์กันบนโลกออนไลน์ ซึ่งหลายคนยอมรับว่าทำไปแล้วก็ได้รับความพอใจกลับมา บางครั้งอาจมีสะใจเล็ก ๆ เสียด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นหนทางแก้ไขปัญหาหรือเปล่า คำตอบคือ คงไม่ใช่ และอาจไม่ใช่หนทางที่จะทำให้คุณสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ แถมเป็นไปได้ด้วยว่า มันทำให้คุณจมอยู่กับความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้นนานมากขึ้น
ทั้งนี้มีข้อมูลจากงานวิจัยทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเผยว่า การโพสต์ข้อความรุนแรงหรือข้อความเชิงลบผ่านทางโลกออนไลน์อาจทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว มีแนวโน้มว่าผู้โพสต์จะยังยึดติดอยู่กับความโกรธ หรือตอกย้ำความทุกข์นั้น ๆ อยู่ นอกจากนั้นยังพบว่า การอ่านข้อความที่โพสต์ด้วยความรู้สึกในแง่ลบของคนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์ก็มีผลต่อจิตใจไม่แตกต่างจากการเป็นผู้โพสต์ข้อความในลักษณะนั้น ๆ เช่นกัน ผลการศึกษาชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ใน the journal Cyberpsychology, Behavior, and Social Networking โดยศาสตราจารย์ไรอัน มาร์ติน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน - กรีนเบย์ หัวหน้าคณะวิจัยได้กล่าวว่าการเข้ามาระบายความรู้สึกในโลกออนไลน์ มีแต่จะทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น และไม่ได้ทำให้จิตใจของคน ๆ นั้นจดจ่ออยู่กับการแก้ปัญหา แต่ไปจดจ่ออยู่กับปัญหามากกว่าจะลงมือแก้ไข นอกจากนั้นการโพสต์ข้อความเชิงลบในอินเทอร์เน็ตยังแสดงให้เห็นถึงภาวะอ่อนแอทางจิตใจของมนุษย์อีกด้วย
ในโลกนี้ มีผู้คนที่รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ชอบใจต่างก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และมองว่าการระบายความรู้สึกหรือการไปแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์จะสามารถช่วยได้ แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า การโพสต์ข้อความแย่ ๆ หรือโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่นนั้นได้ทำร้ายคนรอบข้าง รวมถึงตัวพวกเขาด้วย ดังนั้นก่อนโพสต์คิดให้ดี เพราะหากโพสต์ไปแล้ว คุณจะหนีจากมันไปไม่ได้จนวันตาย
ขอบคุณบทความดีๆจาก ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(PSYCHE TU)