ดร.มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO กล่าวในรายงานว่า WHO ประเมินว่ามีคนเสียชีวิตราว 7 ล้านคนทั่้วโลกเนื่องจากมลพิษทางอากาศเมื่อปีก่อน พร้อมเพิ่มเติมว่า กว่าครึ่งหนึ่งชองสาเหตุการเสียชีวิตเชื่อมโยงกับควันจากเตาหุงต้มในบ้าน รายงานกล่าวว่าขณะนี้มลพิษทางอากาศถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดประการหนึ่ง
หลักฐานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันช่วยทำให้สภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปมีความสะอาดมากยิ่งขึ้น สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศได้แก่โรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอด รายงานระบุว่าภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตก รวมถึงภาคตะวันออกของเอเชีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด มีคนเสียชีวิต 2 ล้าน 8 แสนคน และ 2 ล้าน 3 แสนคนตามลำดับจากมลพิษทางอากาศเมื่อปีก่อน
สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 1 ล้าน 7 แสนคน เป็นผลพวงจากมลพิษนอกบ้าน นอกจากนี้ คนราว 3 พันล้านคนยังต้องใช้ถ่าน เศษไม้และเตาหุงต้มเพื่อปรุงอาหาร โดยเฉพาะในอินเดีย ร้อยละ 63 ของประชากรใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวเพื่อการปรุงอาหาร ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงสารคาร์มอนน็อกไซด์ อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการเสียชีวิตรายประเทศ ส่วนมลพิษนอกบ้านทำให้มีคนเสียชีวิตราว 3 ล้าน 7 แสนคน กว่าร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง/21.05 น.