นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า กากเพชร หรือ Glitter ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และเครื่องสำอางมีส่วนประกอบสำคัญ คือ พลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต หรือเพท (Polyethylene terephthalate หรือ PET) และ ไมเลอร์ (Mylar) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีองค์ประกอบเล็กมาก และปะปนในธรรมชาติได้ง่าย โดยยกตัวอย่างการซักเสื้อผ้าที่มีลวดลายประดับด้วยกากเพชร หรือ แม้แต่ในการล้างเครื่องสำอางประดับกากเพชร พลาสติกขนาดเล็กจากกากเพชรนี้ก็จะหลุดไปตามท่อระบายน้ำ ออกสู่แม่น้ำและสู่ท้องทะเล เมื่อปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ กินเข้าไปก็จะตกค้างอยู่ในกระเพาะ และเมื่อมนุษย์บริโภคปลาหรือสัตว์น้ำ มนุษย์ก็จะได้รับสารเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งระบบย่อยอาหารและระบบหายใจ
นายวิคเตอร์ อัลวาเรซ วิศวกรเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มรณรงค์ให้ยุติการใช้พลาสติกขนาดเล็ก ระบุว่า ขณะที่ทุกคนกังวลเรื่องภูเขาพลาสติกในมหาสมุทร แต่ในทางปฏิบัติ เรายังสามารถกำจัดพลาสติกเหล่านี้ได้ง่าย ขณะที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดพลาสติกขนาดเล็กมาก จากสถิติในปี 2561 พบว่าปลาที่จับได้จากท้องทะเลจำนวนมากถึง 1 ใน 3 จะมีอานุภาคพลาสติกขนาดเล็กปนเปื้อนอยู่ กากเพชรจึงมีอันตรายมากกว่าการใช้หลอดพลาสติก กลุ่มนักรณรงค์และนักวิทยาศาสตร์จึงเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีกฎหมายห้ามใช้กากเพชรเพื่อกำจัดพลาสติกขนาดเล็กให้หมดไป
...