Severity: Notice
Message: Undefined offset: 77
Filename: news/detail.php
Line Number: 400
“แผลเป็น” นับว่าเป็นสิ่งที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะนั่นจะทำให้รู้สึกถึงตำหนิบนร่างกาย ลดความมั่นใจในตัวเอง ลง ดังนั้น เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นจึงพยายามรักษาอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็น โดยเฉพาะแผลเป็นนูนซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งหนึ่งในความเชื่ออย่างการกินไข่แล้วทำให้เกิดแผลเป็นนูนจึงเกิดขึ้น ทว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่? เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็สงสัยอยู่เหมือนกัน และเพื่อให้เกิดความเข้าใจสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจะเป็นผู้อธิบาย รวมถึงเผยวิธีการรักษาแผลเป็นด้วยตนเอง
ทำความรู้จัก “แผลเป็นนูน”
ต้องอธิบายก่อนว่าแผลเป็นนูนนั้น มี 2 ชนิด คือ แผลเป็นนูนเกิน ซึ่งแผลจะนูนขึ้นมาแต่ไม่ขยายเกินขอบเขตของบาดแผลเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถกลับมาใกล้เคียงกับแผลเป็นปกติได้ภายใน 1 ปี ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และแผลเป็นคีลอยด์ โดยแผลจะนูนขึ้นมาและขยายเกินขอบเขตของบาดแผลเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วแผลจะนูนและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา แผลเป็นชนิดนี้มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ และคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมบาดแผลมากเกินไป อีกทั้งพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์เช่นกัน
กินไข่ทำให้แผลเป็นนูนจริงหรือ?
ข้อสงสัยที่ว่าการกินไข่ทำให้แผลเป็นนูนจริงหรือ? บอกตรงนี้เลยว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ ดังนั้น ระหว่างเกิดบาดแผลสามารถรับประทานไข่ได้ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการดูแลแผลอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการขยายตัวและการนูนตัวของแผลเป็นได้ รวมถึงสามารถลดการขยายตัว ลดการนูนของแผลเป็นโดยการนวดบริเวณแผลเป็นเป็นประจำในระหว่าง 6 เดือนแรก
แผลเป็นสามารถรักษาได้หรือไม่?
การรักษาแผลเป็นนั้นสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัด ใช้สเตียรอยด์แบบฉีด ซึ่งวิธีเหล่านี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แต่ถึงอย่างไรก็มีวิธีที่สามารถดูแลแผลเป็นด้วยตัวเองโดยการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็น ได้แก่
- แผ่นซิลิโคน (Silicone) ใช้หลังเกิดแผลสดหายดีแล้ว โดยปิดแผลเป็นตลอด 24 ชั่วโมงนาน 3 เดือน
- แผ่นเทปเหนียว (Microporous) ใช้ปิดลงบนแผลเป็น
ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ สามารถซื้อและขอรับคำปรึกษาในการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นจากเภสัชกรได้ตามร้ายขายยาทั่วไป โดยเลือกซื้อแผ่นแปะที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังเกตเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ก่อนซื้อทุกครั้ง
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าผู้ที่เป็นแผลเป็นจะเกิดความเข้าใจ ว่าจริง ๆ แล้วสามารถกินไข่ได้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ทำให้แผลนูน ทั้งนี้ หากใครเกิดความไม่สบายใจ ไม่อยากมีแผลเป็นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังในทันที เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)