คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล เปิดงานวิจัย 'เภสัชพันธุศาสตร์'เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสม

15 ธันวาคม 2563, 13:36น.


          ทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคเก๊าท์รายใหม่ที่ต้องรับยาที่ชื่อว่า "อัลโลพูรินอล" (Allopurinal) เพื่อการรักษาจำนวนนับแสนราย  และมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการผื่นแพ้ยา แม้อาการแพ้จะไม่รุนแรง แต่บางรายก็ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะภาวะแทรกซ้อน บางรายตาบอดและอาจถึงขั้นเสียชีวิต บางรายแม้รักษาตัวหายแล้ว แต่ก็มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและมีภาระค่าใช้จ่ายมาก เป็นผลจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม  นอกจากนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกก็ระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนามีการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมสูงมาก  คือ ใช้ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกชนิด ไม่ถูกขนาด จนทำให้ผู้ป่วยแพ้ยาหรือดื้อยา อย่างในประเทศไทยเอง ก็ต้องสูญเสียงบประมาณด้านสุขภาพจำนวนมาก จากการใช้ยาไม่เหมาะสม 


 




 


           คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกันทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการนำ "เภสัชพันธุศาสตร์" มาใช้เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่ง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า "เภสัชพันธุศาสตร์" คือ ศาสตร์ที่ศึกษาพันธุกรรมในคน ว่าแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาชนิดนั้นๆ อย่างไร ซึ่งก่อนหน้าที่เทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์จะเข้ามา แพทย์ใช้วิธีสอบถามประวัติ ตรวจสอบอาการผู้ป่วยและคาดการณ์ รวมทั้งใช้วิธีทดลองยาแบบสุ่มตัวอย่าง  ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่ได้ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีบางกลุ่มบางคนที่เกิดอาการแพ้ยา  แต่เมื่อใช้วิธีตรวจสอบพันธุกรรมของแต่ละคน จะรู้ได้ทันทีว่า ใครแพ้ยาตัวไหน ตอบสนองต่อการรักษากับยาตัวไหนบ้าง ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากกับผู้ป่วย ที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้ยา หรือใช้ยาแล้วรักษาไม่หาย


 




 


          ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย สามารถให้บริการตรวจพันธุกรรมเพื่อการใช้ยา หรือเภสัชพันธุศาสตร์อย่างแพร่หลายแล้ว โดยโรคที่บรรจุไว้ในบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพ คือ โรคเก๊าท์ , โรคลมชักและโรคปวดปลายประสาท ซึ่งแม้จะมียาหลายตัวให้เลือกใช้ แต่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์บางคน จำเป็นต้องใช้ยาอัลโลพูรินอล และผู้ป่วยโรคลมชักบางคน จำเป็นต้องใช้ยาคาร์บามาเซปีน (Carbamazepine) ซึ่งยาทั้งสองชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการแพ้ได้  แพทย์และเภสัชกรที่รักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้ สามารถใช้ดุลพินิจส่งผู้ป่วยรายนั้นไปตรวจว่ามียีนส์ที่ทำให้เกิดการแพ้ยาสองชนิดนี้หรือไม่ เพื่อใช้ข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์การให้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย  นอกจากนี้ เภสัชพันธุศาสตร์ ยังสามารถต่อยอดไปใช้กับการรักษาโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมได้ เช่น โรคมะเร็ง หากทราบถึงกลไกของโรคผ่านพันธุกรรม ก็จะสามารถป้องกันและรักษาโรคนั้นได้


 




 


          สำหรับโครงการวิจัยเรื่องเภสัชพันธุกรรมเพื่อการใช้ยาสมเหตุสมผลในประเทศไทย ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิยาลัยมหิดล ได้ผลิตเป็นหนังสือคู่มือแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยแล้ว และมีการบรรจุวิชาเภสัชพันธุศาสตร์ไว้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์แล้ว คาดว่าบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ๆ จะมีความรู้ความเข้าใจและเชี่ยวชาญในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งการรู้ข้อมูลรหัสพันธุกรรมจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น 
ข่าวทั้งหมด

X