กรมอนามัย แนะ 'ดื่มน้ำให้เพียงพอ และกินผัก ผลไม้' ป้องกันร่างกายขาดน้ำ ช่วงหน้าร้อน

25 มีนาคม 2564, 11:37น.


     ช่วงหน้าร้อนอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำรู้สึกอ่อนเพลีย เกิดภาวะขาดน้ำได้ การป้องกันจึงควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน และกินผัก ผลไม้ ที่เต็มไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งผักและผลไม้หลายชนิดเป็นที่คุ้นเคยหรือกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว อุดมไปด้วยน้ำสูงถึงร้อยละ 80 ช่วยลดความร้อนและทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยทดแทนน้ำในร่างกาย ที่สูญเสียไปเนื่องจากอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ช่วยลดการอักเสบจากการเผาไหม้ของแสงแดดในหน้าร้อน ช่วยปกป้องผิวและสายตาจากการถูกทำลายจากแสงแดด ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ได้แก่ 1) แตงกวา 2) คะน้า 3) มะเขือเทศ 4) แตงโม 5) มะละกอ 6) ฝรั่ง และ 7) สะระแหน่ ช่วยบรรเทาอาการหวัด ขับเหงื่อ ระบายความร้อน



     โดยควรเลือกกินผักและผลไม้มากกว่าดื่มน้ำผลไม้เพื่อให้ได้รับใยอาหารช่วยในการขับถ่ายและชะลอการดูดซึมน้ำตาล ลดการสะสมของคอเลสเตอรอล แต่การกินผลไม้ต้องระวังเรื่องน้ำตาลในผลไม้ ควรเลือกกินผลไม้รสไม่หวานจัด ในปริมาณ วันละ 3 – 5 ส่วน ของชนิดผลไม้ เช่น แตงโม 6 ชิ้นคำต่อ 1 มื้อ ส้ม 1 ลูกต่อ 1 มื้อ หรือฝรั่งครึ่งลูกต่อ 1 มื้อ และควรกินผักอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี

     สำหรับในช่วงหน้าร้อนผู้คนนิยมดื่มเครื่องดื่มรสหวาน หากต้องการมะละกอ ดื่มน้ำหวาน ควรเลือกดื่มน้ำผักผลไม้สดจากธรรมชาติ น้ำผลไม้สำเร็จรูป 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การดื่มน้ำผลไม้ก็จะได้รับน้ำตาลสูงกว่าผลไม้สด เพราะจะมีโอกาสกินในปริมาณมากกว่า จึงควรเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำสมุนไพร ชา กาแฟ หากเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวานไม่ได้ขอให้เลือกสูตรหวานน้อยหรือสั่งหวานน้อย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว เหงื่อออกปัสสาวะบ่อย เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว


     ในฤดูร้อนจะมีโอกาสเกิดโรคท้องร่วงหรือท้องเสียมากกว่าฤดูกาลอื่น ๆ หากมีอาการดังกล่าว จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำหรือเกลือแร่ในร่างกาย ดังนั้น ต้องดื่มผงเกลือแร่หรือที่เรียกว่า โออาร์เอส (ORS: Oral Rehydration Salts) โดยละลายผงเกลือแร่ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วตามปริมาตรและวิธีที่ระบุบนฉลาก ดื่มเพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป

X