!-- AdAsia Headcode -->

เนื้อหมูดิบทำอาหาร! เสี่ยงโรคไข้หูดับ “ไข้สูง – เวียนหัวทรงตัวไม่ได้ – หูหนวกถาวร” แนะนำปรุงสุกอุณหภูมิตั้งแต่ 70 อาศาฯ ขึ้นไป

12 เมษายน 2564, 15:19น.


ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เชื่อว่าหลายครอบครัวอาจจะนำเนื้อหมูมากินแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ฯลฯ ซึ่งหากปรุงไม่สุกเช่นนี้ ด้วยความห่วงใยจากกรมควบคุมโรคจึงอยากมาเตือนว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

            “โรคไข้หูดับ” คืออะไร


            “โรคไข้หูดับ” เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้อยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

            1. จากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ

            2. สัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย

            อาการของโรคหูดับและใครบ้างที่เสี่ยงสูงรับเชื้อ

            โดยอาการของโรคจะเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
หากพบว่ามีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ ปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต

            ใครบ้างที่จะมีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อสูง

            ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงรับเชื้อไข้หูดับ คือ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ



            วิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ  


            1. บริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์

            2. ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ควรทำให้สุกก่อน แนะนำอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป

            3. แยกอุปกรณ์ ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน การบริโภคอาหารปรุงสุกนอกจากจะเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับแล้วยังเป็นการป้องกันโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย

            4. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

            อย่างไรก็ดี สถิติโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 4 เม.ย.64 พบผู้ป่วยจำนวน 73 คน เสียชีวิต 7 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลําปาง นครราชสีมา อุตรดิตถ์ พะเยา และพิษณุโลก ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422



 



ข้อมูล : กรมควบคุมโรค







 



 

X