เชื่อว่าในการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะหน้ากากผ้าก็ดี หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ก็ดี หรือหน้ากาก N95 เมื่อใส่ไปนาน ๆ มักทำให้รู้สึกอึดอัดราวกับจะหายใจไม่ออก และดูเหมือนทำให้ร่างกายขาดออกซินเจนไปในที่สุด จนหลายคนเกิดความสงสัยว่าการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานแท้จริงแล้วทำให้ขาดออกซิเจนหรือไม่? ด้วยความห่วงใยจาก อ. นพ.อิติวัฒน์ ศรีประสารน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้ออกมาอธิบายถึงเรื่องนี้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
หน้ากากผ้า VS หน้ากากอนามัย ทำร่างกายขาดออกซิเจน?
ต้องบอกเลยว่าการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย “ไม่ได้ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน” เนื่องจากหน้ากากทั้ง 2 ชนิด สามารถสวมได้ตลอดเวลาที่ทำกิจวัตรประจำวัน แต่ถึงอย่างไรก็ควรเปลี่ยนหน้ากากเมื่อสกปรก หรือถอดหน้ากากเมื่อออกกำลังกายโดยใช้การเว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรสวมหน้ากากขณะนอนหลับ
แล้วหน้ากาก N95 ทำให้ขาดออกซิเจนด้วยไหม?
ส่วนใครที่กังวลเกี่ยวกับหน้ากาก N95 นั้น อธิบายก่อนว่าเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันฝุ่น ละอองฝอยขนาดเล็ก ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม การสวมหน้ากาก N95 แบบแนบสนิทใบหน้าจึงอาจทำให้ระบายอากาศได้ยาก ต้องออกแรงหายใจมาก ดังนั้น ควรสวมหน้ากาก N95 ขณะปฏิบัติงานที่ต้องใช้หน้ากาก N95 โดยเฉพาะ เนื่องจากการสวมหน้ากาก N95 เป็นเวลานาน อาจทำให้เวียนศีรษะหรือมีระดับคาร์บอนใดออกไซด์สูง แต่ไม่ทำให้ขาดออกซิเจน
อย่างไรก็ดี อยากแนะนำเรื่องการสวมหน้ากากซึ่งควรเลือกชนิดหน้ากากที่เหมาะสมกับกิจกรรม และสะดวกต่อการสวมใส่ได้ตลอดเวลา ช่วยป้องกันโรค ลดการถอดหน้ากาก ลดการสัมผัสหน้ากากส่วนที่สกปรก ทั้งนี้ ย้ำอีกครั้งว่าการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานในกิจวัตรประจำวันไม่ทำให้ขาดออกซิเจน และไม่ทำให้เลือดเป็นกรด
ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย