เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านต้องมีการใช้ลูกเหม็นดับกลิ่น หรือไล่แมลงต่าง ๆ ไม่ให้มารบกวน ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์ให้กับเราไม่น้อย แต่ถึงกระนั้นลูกเหม็นก็ยังคงเป็นสารเคมีที่อันตรายอยู่ ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ออกมาแนะนำถึงเรื่องน่ารู้ของ “ลูกเหม็น” สารเคมีอันตรายใกล้ตัวเราแบบเจาะลึก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
เรื่องน่ารู้ของ “ลูกเหม็น” สารเคมีอันตรายใกล้ตัวเรา
1. ลูกเหม็น คือสารจำพวกแนฟทาลีน มีคุณสมบัติเป็นของแข็งที่มีกลิ่นฉุนและสามารถระเหิดเป็นไอได้
2. การนำไปใช้
- ควรใช้เพื่อกับกลิ่นหรือไล่แมลงในบ้านเรือนเท่านั้น
- วางในที่มิดชิด
- ไม่ควรใช้กับเสื้อผ้า ผ้าห่ม หรือของใช้ของเด็กและทารก แต่หากใครเผลอนำไปใช้กับเสื้อผ้าก็ควรซักก่อนใช้อีกครั้ง หรือหากนำไปใช้กับของใช้ให้เช็ดทำความสะอาด
3. อันตรายต่อสุขภาพ ห้ามสูดดมไอระเหิดลูกเหม็นเป็นเวลานานเพราะเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้ รวมถึงระวังอย่าให้เข้าตา ปาก จมูก หรือสัมผัสเนื้อเยื่ออ่อน ผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองรุนแรง กรณีเข้าสู่ร่างกายแล้วกำจัดไม่ทันเสี่ยงเม็ดเลือดแดงแตก และเกิดภาวะเลือดจางตามมา
4. อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าอย่างไรห้ามทิ้งลูกเหม็นรวมถึงภาชนะที่บรรจุลงในแม่น้ำคูคลอง แหล่งน้ำสาธารณะเด็ดขาด เพราะเป็นพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ มีผลกระทบระยะยาว
และเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานลูกเหม็นขั้นสุด อยากย้ำอีกครั้งว่าให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสและสูดดมไอลูกเหม็นเป็นเวลานาน ขณะใช้งานให้เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด ห่างจากอาหาร เปลวไฟ หรือความร้อน เก็บให้พ้นมือเด็กด้วย และที่สำคัญหลังจากการหยิบใช้งานให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)