!-- AdAsia Headcode -->

หน้าฝนควรรู้! อาการและวิธีรับมือเมื่อ “ถูกตะขาบกัด”

07 มิถุนายน 2564, 15:36น.


            เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝนแบบนี้ สัตว์มีพิษอย่าง “ตะขาบ” อาจเข้ามาหลบในบ้านหรือที่พักอาศัยของเราได้โดยไม่รู้ตัว และด้วยความที่เราไม่รู้อาจทำให้ถูกตะขาบกัดกลายเป็นแผล ซึ่งรู้หรือไม่ว่ามีความรุนแรงจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้ ด้วยความห่วงใยจาก รศ. พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับอาการ และวิธีรับมือเมื่อถูกตะขาบกัด สร้างความเข้าใจ

            “ตะขาบ
สัตว์มีพิษที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร?

            ตะขาบเป็นสัตว์ขาปล้องพบได้ในแถบร้อนชื้น อยู่บนบก ขนาดความยาวลำตัวอยู่ที่ประมาณ 3 – 8 เซนติเมตร โดยแต่ละปล้องจะมีขา 1 คู่ ทำให้มีจำนวนขามากเผลอ ๆ 100 ขาเลยทีเดียว ที่สำคัญจะมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ เวลาทีกัดก็จะปล่อยพิษออกมาจากเขี้ยวพิษโดยที่สารที่อยู่ในพิษของตะขอบเป็นชนิดที่เป็นเอนไซม์ และไม่เป็นเอนไซม์

            “ตะขาบกัด”
เราจะมีอาการอย่างไร?

            เมื่อถูกกัดอาการแรกเลยคือปวด มีระดับตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก หรือปวดรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ อย่าง คัน บวม มีแผลจากรอยเขี้ยวเกิดขึ้น ลักษณะแผลมีทั้งตื้น และแผลลักษณะเนื้อตาย แต่ในผู้ป่วยบางคนที่มีอาการรุนแรงหรือเรียกว่าแพ้พิษตะขาบ ผู้ป่วยก็จะมีอาการบวมที่ใบหน้า บวมที่หนังตา ริมฝีปาก มีผื่นขึ้นทั่วตัว หรือหายใจติดขัด อาการหน้ามืด ซึ่งวัดความดันเลือดก็จะพบว่าผิดปกติ กรณีที่ผู้ป่วยหายใจติดขัดหรือความดันเลือกผิดปกติมากๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้

            วิธีปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกตะขาบกัด


            - หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อย่าง แพ้พิษตะขาบ อาการบวม ผื่นขึ้นทั่วตัว หายใจลำบาก ความดันเลือกต่ำ หน้ามืด ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือโทรเรียก 1669 เพื่อให้รถกู้ชีพหรือรถพยาบาลพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลรักษาทันท่วงที

            - กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาจจะมีอาการปวด บวม รอยแผลจากการถูกกัดตื้น ๆ แนะนำให้ทำความสะอาดแผลโดยใช้น้ำสะอาดหรือใช้สบู่อ่อน ๆ ทำความสะอาดที่แผลได้เลย

            - ไม่แนะนำให้กรีดหรือใช้สมุนไพรพอกในบริเวณที่ถูกกัด

            - ถ้าปวดมาก  อาจจะใช้วิธีประคบเย็น หรือกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดได้

            - ถ้าอาการปวดไม่ทุเลาลง ปวดรุนแรงขึ้น มีอาการบวม ผื่น อาการผิดปกติ แผลที่ถูกกัดเป็นเนื้อตาย แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินอาการที่โรงพยาบาล

            
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าหน้าฝนนี้ทุก ๆ คนจะเกิดความเข้าใจในการรับมือเมื่อถูกตะขาบกัดได้อย่างดี แต่ถึงกระนั้นก่อนหยิบจับ หรือใช้มือสัมผัสวัตถุอะไรควรตรวจสอบให้มั่น เพราะการไม่ถูกสัตว์มีพิษกัดย่อมดีกว่า



 



ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel







 



 

X