ผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มคนที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันเสื่อมสภาพ เมื่อไม่สบายแต่ละครั้งจึงมีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่าคนหนุ่มสาว ด้วยความห่วงใยจาก ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจถึงวัคซีนที่ควรฉีดให้ผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงเจ็บป่วยที่รุนแรง
ทำไมผู้สูงอายุควรได้รับการฉีดวัคซีน?
เหตุผลที่ผู้สูอายุควรได้รับการฉีดวัคซีนนั้น เนื่องจากผู้สูงอายุมีสมรรถภาพที่ถดถอยลง มีภูมิต้านทานลดลงจึงส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และเมื่อการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้วก็มักจะมีอาการและการแทรกซ้อนที่มากกว่าคนหนุ่มสาว
วัคซีนที่ควรฉีดให้ผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง?
1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะเมื่อผู้สูงอายุมีการติดเชื้อนี้ก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่าง ปอดอักเสบเกิดขึ้นได้
2. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมค็อกคัส ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ คือ แบบ 13 สายพันธุ์ (PCV 13) และแบบ 23 สายพันธุ์ (PPSV 23) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดหรือที่เยื้อหุ้มสมอง
3. วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อจะลดลง จึงควรฉีดเพื่อกระตุ้น
4. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคงูสวัด ซึ่งจะลดโอกาสการติดเชื้อลงได้ประมาณครึ่งหนึ่งในช่วง 3 ปีแรกหลังฉีดวัคซีน และเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดปลายประสาทลงได้ 2 ใน 3
5. วัคซีนป้องกันโรค COVID – 19 ซึ่งกำหนดให้ฉีดกลุ่มเสี่ยงโดยผู้สูงอายุจัดเป็น 1 ในบุคคลกลุ่มเสี่ยงด้วย
การฉีดวัคซีนควรทำกี่ครั้ง แล้วมีผลข้างเคียงหรือไม่?
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ : ต้องฉีดเป็นประจำทุกปี ซึ่งโดยปกติต้องฉีดในช่วงก่อนเข้าหน้าฝน
- วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมค็อกคัส : หากไม่เคยฉีดมาก่อนเลยครั้งแรกก็จะแนะนำให้ฉีดแบบ 13 สายพันธุ์ จากนั้นเว้นระยะห่าง 1 ปี แล้วจึงฉีดแบบ 23 สายพันธุ์
- วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน : ควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
- วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคงูสวัด : ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดเพียงครั้งเดียว (แต่ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
ซึ่งในส่วนของผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว มีด้วยกันเช่น อาการบวม หน้าแดง เจ็บบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ เกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ก็เกิดเฉพาะบางคนเท่านั้น
โดยปกติแล้วหลังจากการฉีดวัควีนแต่ละชนิดจนครบกำหนด ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ร่างกายถึงจะมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและควรฉีดป้องกันไว้ดีกว่าก่อนที่โรคจะเกิด
ข้อมูล : Siriraj Pr