สืบเนื่องจากที่มีแม่ค้าออนไลน์ขายอาหารทะเล จ.ขอนแก่น โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตนเองถึงกรณีถูกหนังสือจากกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี 92,257 บาท จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น อาจทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนเป็นกังวลเพราะไม่รู้ว่าตนเองจะถูกเรียกเก็บดังเช่นเหตุการณ์นี้หรือไม่ เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับภาษีร้านค้าออนไลน์ หรือภาษีอีเพย์เมนต์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จะได้ไม่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกหลายหมื่นบาท
ทำความรู้จักภาษีร้านค้าออนไลน์ หรือภาษีอีเพย์เมนต์
ภาษีของร้านค้าออนไลน์ จริง ๆ แล้วมีชื่อว่า “ภาษีอีเพย์เมนต์” พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ระบุว่าเป็นการกำหนดให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-wallet ต้องรายงานข้อมูลผู้มีบัญชีธุรกรรมเฉพาะให้กรมสรรพากรทราบ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา (พ่อค้าแม่ค้าธรรมดา) นิติบุคคล (ผู้ที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท) ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยบัญชีธุรกรรมเฉพาะจะต้องมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
- ฝากหรือโอนเงินเข้าทุกบัญชี (เฉพาะสาขารับ) ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป
- มียอดฝากหรือโอนเข้าทุกบัญชี (เฉพาะสาขารับ) ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป (ไม่ว่าจะครั้งละกี่บาท)
- มียอดเงินรวมกัน (เฉพาะสาขารับ) ตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป (ซึ่งต้องเข้าข่ายเงื่อนไขทั้งจำนวนมูลค่าเงินที่รับโอนหรือฝาก และจำนวนครั้ง)
ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้
1. หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% ของเงินได้ สำหรับร้านที่ดำเนินการแบบซื้อมา ขายไป ไม่มีการผลิตภายในร้าน
2. หักตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับบ้านที่มีการผลิตภายในร้าน
3. หักแบบเหมา กรณีที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เกิน 1,000,000 บาท โดยคิดภาษีเป็น 0.5% ของเงินได้
ซึ่งใครสนใจอยากคิดภาษีก็ทำได้ด้วยตัวเอง หรือใช้โปรแกรมในการคำนวณด้วยสูตร (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) แน่นอนว่าหากคุณรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
ยกตัวอย่าง การเสียภาษี “อีเพย์เมนต์”
กำหนดให้มีค่าใช้จ่ายเหมา 60% และมีเฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท หากมีรายได้ทั้งปีเกิน 60,000 บาท ถึง 525,049 บาท จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ไม่มีภาษีต้องเสีย, มีรายได้ทั้งปี 525,050 บาทขึ้นไป ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเริ่มต้น 1 บาท, มีรายได้ทั้งปี 1,000,001 บาท ต้องเสียภาษี 11,500 บาท และมีรายได้ทั้งปี 2,000,000 บาท ต้องเสียภาษี 63,500 บาท
ทั้งนี้ หากมีเอกสารค่าใช้จ่ายจริงที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายตามจริงมากกว่าการหักค่าใช้จ่ายเหมา เมื่อนำไปคำนวณภาษีแล้ว สามารถทำให้เสียภาษีน้อยลง
โดยทั่วไปแล้วทุกๆ ร้านค้าออนไลน์ หรือผู้ค้าขายรับ - โอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-wallet จำเป็นต้องยื่นภาษีกันอยู่แล้ว หากมีรายได้เข้าข่ายเงื่อนไข ได้แก่ ภาษีมูลค้าเพิ่ม (VAT) หากมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยจะเรียกเก็บที่ 7% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีเงินสุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการใช้เงื่อนไขเดียวกับพนักงานเงินเดือนทั่วไป