!-- AdAsia Headcode -->

“ศักดิ์สยาม” สั่งการกรมทางหลวง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 14 วัน กรณีรถยนต์ตกน้ำที่ จ.นครสวรรค์

10 พฤศจิกายน 2564, 12:44น.


      นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง  เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณีประชาชนขับรถตกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานที่จังหวัดนครสวรรค์ นั้น กรมทางหลวง จึงขอเรียนชี้แจง พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใน 14 วัน ตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนี้

1.) บริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว คือ จุดกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กม.3+100 บนทางหลวงหมายเลข 122 ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านตะวันตก พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบ ของแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 กรมทางหลวง

2.) ทางหลวงหมายเลข 122 ตอน ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านตะวันตก ระยะทาง 12.117 กม. ได้ทำการก่อสร้างปรับปรุงเพิ่มมาตรฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเส้นทาง โดยเริ่มก่อสร้างปรับปรุง วันที่ 31 มกราคม 2560 แล้วเสร็จ 20 มกราคม 2562 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) รวมงานก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพานดังกล่าวด้วย โดยหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ส่งมอบให้แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 รับไปดูแลบำรุงรักษาต่อไป



3.) จุดกลับรถใต้สะพาน กม. 3+100 ออกแบบไว้ให้เป็นทางกลับรถ ขนาด 2 ช่องจราจร (ทิศทางละ 1 ช่องจราจร สวนทางกัน) ขอบทางเป็นแบริเออร์คอนกรีต ตีเส้นแบ่งทิศทางจราจรชัดเจน ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้งป้ายแจ้งว่าเป็นจุดกลับรถและป้ายเตือนทางโค้งครบถ้วน สำหรับตรงบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นช่องเปิดกว้าง 4.00 เมตร อยู่ตรงทางโค้งกลับรถ วันที่เกิดเหตุ มีไฟฟ้าแสงสว่าง



4.) ในระหว่างที่มีการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันตกนี้ ในช่วงแรกของการก่อสร้าง ได้มีประชาชนร้องเรียน แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 และเจ้าหน้าที่โครงการก่อสร้าง จึงได้จัดให้มีการประชุมการมีส่วนร่วมกับประชาชน ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะ ให้กรมทางหลวง คำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณสองข้างทาง ดังนั้น ทีมบริหารโครงการก่อสร้าง จึงได้พิจารณาทำการเปิดช่องกว้าง 4.00 เมตร ที่จุดดังกล่าว เพื่อให้ประชาชน นักเรียน ที่อาศัยในละแวกนั้น (ชาวตำบลตะเคียนเลื่อน) สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติในการสัญจรไปมา การประมงของชาวบ้าน การสูบน้ำเพื่อการเกษตร และสูบน้ำสำหรับรถดับเพลิง รวมทั้งใช้สำหรับหน่วยงานอื่น เพื่อเข้าไปซ่อมระบบไฟฟ้า เป็นต้น



5.) สภาพโดยทั่วไปของบริเวณหลังแนวแบริเออร์จุดเปิดนี้ เป็นทางเชื่อมกับเส้นทางสัญจรที่ชาวบ้านในละแวกนั้นใช้งาน ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ยกเว้นช่วงที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อขึ้นมามาก ก็จะท่วมเส้นทางสัญจรดังกล่าว

6.) หลังจากที่เกิดเหตุ ในเบื้องต้น แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 ได้นำแท่งแบริเออร์พลาสติกปิดช่องดังกล่าว และได้ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยอื่นเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง



7.) กรมทางหลวง ได้จัดส่งทีมวิศวกรสำนักอำนวยความปลอดภัย สำนักสำรวจและออกแบบ จากส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานทางหลวงที่ 11 (ลพบุรี) และแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ และพิจารณาแนวทางการแก้ไข โดยการปิดช่องเปิดนี้อย่างถาวร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก ทั้งนี้จะได้ประชุมหารือกับชาวบ้าน ท้องถิ่น และจังหวัดนครสวรรค์ ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วต่อไป

8.) อธิบดีกรมทางหลวง ได้ออกคำสั่งลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยมีวิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ เป็นประธาน ให้รายงานผลสอบข้อเท็จจริง ภายใน 14 วัน



      กรมทางหลวง ขอแสดงความเสียใจเป็นที่สุด กับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขออภัยประชาชน ที่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้

.................................

ฝ่ายประชาสัมพันธ์  กรมทางหลวง 



 

X