อุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวินาทีอย่างไม่คาดคิด อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือเป็นผู้อื่นที่ประสบอุบัติเหตุ เมื่อพบเจอผู้ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บบนท้องถนน เราควรให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น เพื่อลดอันตรายและการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นได้ การจะช่วยผู้บาดเจ็บจำเป็นต้องรู้วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุนั้น หากไม่ทราบวิธีการที่ถูกต้อง การช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุแบบผิดวิธีจะส่งผลร้ายแรงได้
วิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุเบื้องต้น
กรณีอุบัติเหตุเกิดขึ้นด้านหน้ารถ ควรหาที่จอดในที่ปลอดภัยและหยุดรถ แล้วเปิดไฟสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้ขับรถคนอื่น ๆ ได้มองเห็น ทางที่ดีควรหาของมาตั้งเพื่อกั้นช่องทางเอาไว้ เช่น ป้ายสามเหลี่ยมตั้งพื้นสะท้อนแสง ผ้าสีแดงหรือสีสว่าง หรือนำกิ่งไม้มาทำเป็นสัญลักษณ์แจ้งเตือน กรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเองและไม่ได้รับบาดเจ็บมาก รีบโทรแจ้งหน่วยงานช่วยเหลือทันที หากผู้ขับขี่เป็นผู้หญิงตัวคนเดียว ควรอยู่ในตัวรถและล็อกประตูไว้ก่อนจะดีที่สุด
แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่รีบเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ไป เช่น สถานีวิทยุ จส.100 1137 หรือกด SOS บนแอปพลิเคชั่น JS100, ศูนย์นเรนทร 1669, สถานีวิทยุ สวพ. 91 1644 และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทุกชนิด 191 โดยระบุสถานที่ เส้นทางให้ชัดเจน เพราะการติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้คนเจ็บได้รับการช่วยเหลือได้ทันที พร้อมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจัดการดูแลและพิจารณาอาการอย่างตรงจุด
หากพบผู้บาดเจ็บบนท้องถนน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรทำด้วยความระมัดระวัง หากผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่ควรเคลื่อนย้ายด้วยตัวเอง และรอเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ เพราะบางครั้งผู้ประสบเหตุอาจมีกระดูกชิ้นสำคัญหัก หรือร้าวได้ การเคลื่อนย้ายหรือสัมผัสอย่างผิดวิธีอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
กรณีเลือดออกมาก ควรหาผ้าสะอาดมาปิดปากแผลเอาไว้ จากนั้นหาสายยางหรือผ้าอีกชิ้นมารัดแน่น ๆ บริเวณเหนือปากแผลเพื่อเป็นการห้ามเลือดไม่ให้เสียเลือดไปมากกว่านี้ หากมีอวัยวะฉีกขาด รีบนำอวัยวะส่วนที่ขาดใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้แน่น พร้อมนำถุงไปแช่น้ำแข็ง และส่งให้แพทย์ช่วยเหลือต่อไป
กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้ทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ตามขั้นตอน หากคุณทำ CPR เป็น ควรรีบช่วยเหลือทันที แต่ถ้าเกิดไม่รู้วิธีเบื้องต้นให้โทรหาเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
กรณีกระดูกหัก ควรหาอุปกรณ์แข็งๆมาทำการเข้าเฝือกชั่วคราว โดยนาบของแข็งไว้ทั้งสองข้างของอวัยวะส่วนที่หัก แล้วใช้ผ้าหรือเชือกมัดให้แน่นเพื่อไม่ให้กระดูกส่วนที่หักเคลื่อนไหว
หากผู้ประสบเหตุไม่มีอาการรุนแรงจนหมดสติ ควรพยายามหาเรื่องชวนพูดคุยในระหว่างที่กำลังรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สอบถามชื่อ ที่อยู่ หรือถามว่าจะเดินทางไปที่ไหน เดินทางมาจากที่ใด เพื่อให้ผู้ประสบเหตุรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวล ตกใจ และช่วยลดความเจ็บปวดทางร่างกายให้น้อยลง
ตรวจสอบสถานการณ์โดยรอบว่ายังมีผู้ประสบเหตุคนอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ หากเป็นเวลากลางคืนสามารถใช้ ไฟฉาย LED Zoom ส่องหาผู้ประสบเหตุในบริเวณโดยรอบ พร้อมกับเตรียมข้อมูลบอกเล่ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากมีกล้องหน้ารถบันทึกภาพขณะเกิดเหตุสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในที่เกิดเหตุได้ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหาตัวผู้กระทำผิด หรือสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุได้อย่างถูกต้อง
วิธีการให้ความช่วยเหลือที่ผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนควรรู้ไว้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก สร้างจิตใต้สำนึกให้ทุกคนขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ประมาท ไม่มองข้ามและพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งสามารถช่วยลดอุบัติเหตุและลดอัตราการสูญเสียบนท้องถนนได้ อย่างไรก็ตามหากไม่มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง ควรรอให้หน่วยกู้ชีพหรือทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิตได้
