เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน การวัดปริมาณน้ำฝนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงฤดูฝนก็ตาม ทางอุตุนิยมวิทยาก็จำเป็นที่ต้องเก็บสถิติปริมาณน้ำฝนไว้เพื่อคาดคะเนและรวบรวมข้อมูล เพราะน้ำฝนเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร เพื่อดูว่าพื้นที่ไหนจะอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ หรือพื้นที่ไหนแห้งแล้ง พื้นดินกลายเป็นทะเลทรายไม่สามารถทำการเกษตรได้ อีกทั้งยังสามารถคาดเดาฝนที่ตกลงมาในแต่ละวันว่าพื้นที่ไหนจะเกิดน้ำท่วมขัง ฝนตกหนัก หรือมีพายุ ซึ่งทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่นั้นๆ
การวัดปริมาณน้ำฝนจะวัดตามความสูงของจำนวนฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า โดยใช้อุปกรณ์วัดน้ำฝน (Rain gauge) รูปทรงกระบอกขนาดมาตรฐาน ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร หรือ 8 นิ้ว บนปากกระบอกจะมีกรวยรองรับน้ำฝน ให้ฝนตกลงสู่กระบอกตวงซึ่งอยู่ภายในซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่ากระบอกนอก 10 เท่า (เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร) การที่ขยายมาตราส่วนขึ้น 10 เท่านี้ เพื่อความสะดวกในการอ่านค่าปริมาณ ในการอ่านค่าปริมาณน้ำฝนจะใช้ไม้บรรทัดเพื่อหยั่งความลึกของฝนหรืออาจใช้แก้วตวงที่มีมาตราส่วน แบ่งไว้สำหรับอ่านปริมาณน้ำฝนเป็นนิ้วหรือเป็นมิลลิเมตร
การวัดปริมาณน้ำฝนจะใช้หน่วยวัดเป็นมิลลิเมตร หากวันนั้นมีฝนตกลงมา ปริมาณฝนจะเริ่มต้นอย่างน้อย ๐.๑ มิลลิเมตร ขึ้นไป เช่น ถ้าฝนตกลงมาทำให้ระดับน้ำฝนในภาชนะที่รองรับสูงขึ้น 10 มิลลิเมตร หมายความว่าฝนตกวัดได้ 10 มิลลิเมตร นอกจากจะทราบความสูงของน้ำฝนประมาณแล้ว เราสามารถคำนวนจำนวนลูกบาศก์เมตรของน้ำฝนได้ ถ้าทราบเนื้อที่ของบริเวณที่มีฝนตก
เกณฑ์การวัดน้ำฝนซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดปริมาณน้ำฝน สำหรับประเทศไทย คือ
ฝนตกเล็กน้อย มีปริมาณ 0.1 – 10 มิลลิเมตร
ฝนตกปานกลาง มีปริมาณ 10.1 – 35 มิลลิเมตร
ฝนตกหนัก มีปริมาณ 35.1 – 90 มิลลิเมตร
ฝนตกหนักมาก มีปริมาณ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป
ชนิดของเครื่องวัดน้ำฝน