Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ขับเคลื่อนบนช่องทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เป็นธนาคารที่ไร้สาขา มีจุดเด่นสำคัญคือ ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้ง ไม่มีสาขา ไม่มีตู้ ATM แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้ และให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล Virtual Bank ถือว่าเป็นธนาคารเต็มรูปแบบ คนที่สามารถขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ จะต้องมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท เนื่องจาก Virtual Bank ต้องมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเช่นเดียวกับแบงก์ดั้งเดิม แต่ไม่อนุญาตให้มี ATM/CDM ของตัวเอง
รูปแบบการให้บริการของ Virtual Bank เป็นการบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลไปจนตลอดกระบวนการของการให้บริการ โดยเริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ครอบคลุมไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การโอน การชำระเงิน การลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual Bank ได้จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ Virtual bank ยังมีการรับเงินฝากและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแบบอื่น ๆ เช่น
1. Peer-to-Peer lending ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้
2. Crowdfunding ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่ตัวกลางช่วยจับคู่ผู้ระดมทุนและนักลงทุน
3. Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง
ประโยชน์ของ Virtual Bank
1. สามารถเปิดบัญชีได้โดยใช้แค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว โดยไม่ต้องไปธนาคาร
2. มี AI ช่วยแนะนำการออมเงินและการใช้จ่ายให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี
3. สร้างประสบการณ์การให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นมากกว่าธนาคารรูปแบบเดิม
4. สามารถมีบัญชีเงินฝากแบบไม่ต้องมีสมุดคู่ฝาก บัญชีเงินฝากจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปและอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน
5. ให้สินเชื่อโดยผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว
6. เข้าถึงสินเชื่อรายย่อย และ SMEsได้ง่ายขึ้น จากการสร้างข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ
7. กระตุ้นให้สถาบันการเงินตื่นตัว เกิดการแข่งขัน ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี
ข้อแตกต่างระหว่าง Virtual Bank กับ ธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์ที่เราเห็นกันในปัจจุบันยังใช้ระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร หรือ Core banking system ในรูปแบบเก่าเพราะถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่น ๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดให้มี Virtual Bank เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมทางการเงินนั้น มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้นและยังช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่ม underserved และ unserved ด้วย