การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นวลีสั้นๆที่แทบทุกคนต้องเคยได้ยินและอยากให้ชีวิตของตนเองเป็นเช่นนั้น เพราะการที่เราไม่มีโรคให้มากวนใจนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรจะไปที่ไหน ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข สดใส ไม่เครียด และสนุกกับการได้ทำกิจกรรมในทุกๆวัน แต่ใครจะรู้ว่าการที่เรามีสุขภาพที่ดี ดูแลตัวเองดี ดูภายนอกแล้วไม่เป็นอะไร เมื่อได้ไปตรวจสุขภาพแล้วกลับพบกับโรคต่างๆที่เราไม่เคยรู้และไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ
สถิติประชากรของประเทศไทยในตอนนี้ มีคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดถึง 93,858 คน จำนวนคนเสียชีวิตในปี 2565 สูงขึ้น ส่งผลให้ประชากรไทยติดลบเป็นปีที่ 2 จากการสำรวจในแต่ละปีพบว่ามีคนเสียชีวิตจาก โรคมะเร็ง มากที่สุด โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เฉลี่ยวันละ 221 ศพ หรือคิดเป็น 80,665 ศพต่อปี พบผู้ป่วยรายใหม่จากมะเร็งเฉลี่ยวันละ 336 ราย หรือคิดเป็น 122,757 รายต่อปี ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งมากที่สุด แต่ในต่างประเทศเอง โรคมะเร็ง นั้นถือว่าเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั่วโลกจะมากกว่า 13.1 ล้านคนต่อปี
โรคมะเร็งพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เฉลี่ย 169.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน ติดอันดับที่ 15 ของเอเชีย โดยมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายเป็น 5 ดับดับแรกนั้นก็คือ
1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
2. มะเร็งปอด
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
4. มะเร็งต่อมลูกหมาก
5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่วนมะเร็งในผู้หญิงพบ 151 คนต่อประชากร 1 แสนคน ติดอันดับที่ 18 ของเอเชีย โดยมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงเป็น 5 ดับดับแรกนั้นก็คือ
1. มะเร็งเต้านม
2. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
3. มะเร็งปากมดลูก
4. มะเร็งลำไส้
5. มะเร็งปอด
ในปัจจุบันแม้จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี แต่องค์กรทางการแพทย์และบริษัทยาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ล่าสุด BioNTech บริษัทยาสัญชาติเยอรมัน กำลังเร่งพัฒนา วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง ด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่รู้จักกันดีจากวัคซีนโควิด โดยทางทีมวิจัยของ BioNTech ได้นำเทคโนโลยี mRNA หรือ เมสเซนเจอร์ ไรโบนิวคลีอิก แอซิด (messenger-ribonucleic-acid) มาประยุกต์ใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ถูกจัดทำขึ้นมาในรูปแบบของวัคซัน หลักการทำงานของของวัคซีน mRNA จะแตกต่างจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด เพราะการรักษาแบบ mRNA นั้นจะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า โดยต้องนำรหัสพันธุกรรมจากเซลล์มะเร็งของแต่ละบุคคลมาฉีดเพื่อให้ร่างกายได้เรียนรู้และสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อสู้กับเชื้อนั้น โดยไม่ส่งผลข้างเคียงมากและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ซึ่งในปีนี้ BioNTech จะทำการทดลองใช้วัคซีนกับผู้ป่วยโรคมะเร็งในสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกซึ่งหากการทดลองรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย mRNA นี้ประสบผลสำเร็จ จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลกคงไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วและยังสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อีกจำนวนมากทั่วโลกโดยที่พวกเขาไม่ต้องทนเจ็บป่วยกับโรคนี้อีกต่อไป
ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ