Karoshi Syndrome งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ไม่มีอยู่จริง..

07 กุมภาพันธ์ 2566, 16:27น.


      “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” เป็นคำที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วในปัจจุบันนี้ เพราะจากสถิติที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเผยผลการศึกษา พบว่าตั้งแต่ปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากถึง 745,000 คน เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปี 2000 ซึ่งในอนาคตอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุการเสียชีวิตมาจากเส้นเลือดในสมองแตก 398,000 คน และโรคหัวใจ 347,000 คน คนทำงานที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเสี่ยงและได้ผลกระทบหนักที่สุด ส่วนมากผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 72% โดยผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยค่าเฉลี่ยมาตราฐานการทำงานปกติแล้วจะอยู่ที่ 35 – 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

      Karoshi Syndrome โรคทำงานหนักจนตาย หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อนี้กันมาบ้างจากสื่อของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นเองเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อของการทำงานหนัก ผู้คนมักจริงจังกับหน้าที่การงานของตัวเองจนลืมไปว่าการใช้ชีวิตก็มีความหมาย เพราะค่านิยมการทำงานที่วัดกันที่ผลงาน เป็นที่ยอมรับของสังคม มีชื่อเสียง มีที่ยืนในสังคมรวมไปถึงฐานะทางการเงินที่มั่งคง การเข้าร่วมงานสังสรรค์ของบริษัท แม้ว่าจะเหนื่อยสักแค่ไหนก็ต้องไป แม้จะไม่ใช้การบังคับแต่สังคมการทำงานในระยะยาวจะถูกกีดกันและโดนบีบออกไปอย่างอ้อมๆ ซึ่งการไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมการทำงานถือว่าเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจผู้ถูกกระทำอยู่พอสมควร แม้สถานการณ์นี้จะเกิดในสังคมของประเทศญี่ปุ่นมากซะส่วนใหญ่ แต่ในประเทศอื่นๆก็มีเหตุการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน

สาเหตุหลักๆของการเกิดโรค Karoshi Syndrome คือ

เสียชีวิตเพราะความเครียดจนจบชีวิตตัวเอง

      เนื่องจากการทำงานโดยไม่หยุดพักผ่อน นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและฝืนร่างกายของตนเองมาทำงานต่อทั้ง ๆที่ไม่ไหว ร่างกายขาดสารอาหารไม่ได้รับของที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย ไม่มีพลังงานเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดความเครียด กดดันตัวเอง ท้อแท้ หดหู่ มองตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย ซึ่งอาการมีความคล้ายคลึงกับคนเป็นโรคซึมเศร้า หากรักษาไม่ทันสุดท้ายต้องจบลงที่การฆ่าตัวตาย


เสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย

      คนทำงานส่วนใหญ่มักมีสภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่ง 3 โรคนี้มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นในคนทำงาน เริ่มมาจากความเครียด ความเหนื่อยล้าสะสม ไม่มีเวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี ไม่มีเวลาออกกำลังกาย หาทางออกจากความเครียดด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ จนสุดท้ายต้องจบลงที่การเป็นโรคและป่วยตายในที่สุด


      ในปัจจุบันทางประเทศญี่ปุ่นได้ออกนโยบายลดเวลาในการทำงานจาก 5 วัน เหลือแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อรักษาสมดุลของชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน (Work Life Balance) ให้เหล่ามนุษย์ทำงานทุกคนได้พักผ่อน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและสิ่งที่เรารักเพิ่มขึ้น ลดความเครียดในการทำงาน ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนทำงานทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Work From Home ซึ่งการทำงานแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าชั่วโมงการทำงานจะน้อยลงกว่าเดิม เพราะมีภาระงานมากขึ้นและไม่สามารถระบุเวลาเลิกงานได้อย่างชัดเจน อาจมีงานเล็กๆน้อยๆที่ยังต้องทำนอกเวลาอยู่

      สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัท สถานที่ทำงาน หรือภาระของงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่ที่ตัวของเราเองด้วยเช่นกัน หากเราเปลี่ยนแปลงตนเองและปรับเปลี่ยนวิธีความคิด ขอคำปรึกษา ร่วมกันหาลือกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ช่วยกันหาวิธีการที่เหมาะสมในการทำงาน ใช้ชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานหลักความเป็นจริงโดยเอาตัวเราเป็นที่ตั้ง เพราะไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง หากเราแบกรับทุกอย่างไว้เพียงลำพังโดยไม่ปล่อยให้มันหลุดลอยออกไปบ้าง สุดท้ายก็เป็นตัวเราเองที่เจ็บปวด



X