ค่าเงินบาทแข็ง และ ค่าเงินบาทอ่อน มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร?

08 กุมภาพันธ์ 2566, 15:36น.


      ปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยเทียบกับดอลล่าร์ในตอนนี้อยู่ที่ 33.00 - 33.75 บาท = 1 ดอลล่าร์ ถือว่าค่าเงินบาทในตอนนี้อยู่ในจุดค่าเงินบาทแข็ง (ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน) จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 13 ม.ค.66 ตั้งแต่ต้นปี 2566 มานี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับเพิ่มขึ้น 3 %

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ มาจาก 3 ปัจจัยๆ คือ

1. แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณลดความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินลง จากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง

2. การเปิดประเทศของจีนเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ ทำให้เศรษฐกิจหลายภูมิภาครวมถึงประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะได้รับประโยชน์จากการกลับมาเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน

3. มุมมองต่างชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในภูมิภาคในตอนนี้ดีขึ้น มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี

      หากใครยังไม่เข้าใจถึงความหมายของค่าเงินบาท เราจะอธิบายสั้นๆเกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งและอ่อนว่าแตกต่างกันอย่างไร ค่าเงินบาทแข็ง คือ การใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม ในส่วนของค่าเงินบาทอ่อน คือ การใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม     

ข้อดีของค่าเงินบาทแข็ง

- ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า ราคาสินค้าจากต่างประเทศถูกลง

- สามารถซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง

- ภาระหนี้ลดลงเพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (สำหรับคนเป็นหนี้กับต่างประเทศ)

ข้อเสียของค่าเงินบาทแข็ง

- รายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศของผู้ส่งออกสินค้าและคนทำงาน นำมาแลกเป็นเงินบาทไทยได้น้อยลง

- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำมาแลกเป็นเงินบาทไทยได้น้อยลง

ข้อดีของค่าเงินบาทอ่อน

- รายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศของผู้ส่งออกสินค้าและคนทำงาน นำมาแลกเป็นเงินบาทไทยได้มากขึ้น

- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำมาแลกเป็นเงินบาทไทยได้มากขึ้น

ข้อเสียของค่าเงินบาทอ่อน

- เพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้า ราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้น

- การซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น

- ภาระหนี้เพิ่มขึ้นเพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (สำหรับคนเป็นหนี้กับต่างประเทศ)

เช็คค่าเงินออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่นี่ : https://www.bot.or.th/thai/statistics/financialmarkets/exchangerate/_layouts/application/exchangerate/exchangerate.aspx



ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand



X