หากใครเป็นคอหนัง Action ต่างประเทศ นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Walter Bruce Willis หรือ บรูซ วิลลิส นักแสดงระดับตำนานของวงการฮอลลีวูดที่มีผลงาน Action บู๊สุดระห่ำ ออกมาให้รับชมหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “Die Hard (1988)” ที่ทำให้ตัวเขาในบทบาท จอห์น แม็คเคลน นายตำรวจหนุ่มสุดอึดโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว บรูซ วิลลิส ได้ตัดสินใจ ยุติบทบาทนักแสดง เพราะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็น โรคอะเฟเซีย (Aphasia) สร้างความตกใจให้แก่คนในวงการและแฟนคลับเป็นอย่างมาก
โรคอะเฟเซีย (Aphasia) คือ ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ในบางกรณีอาจพบปัญหาทั้ง 2 อย่างร่วมกัน สาเหตุของโรค Aphasia มาจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมด้านภาษา อาจได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสองแตกหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ โดยเกิดความเสียหายของสมองบริเวณ Broca’s area หรือ Left inferior frontal lobe ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหน้าล่างของกลีบหน้าด้านซ้าย โรค aphasia จะทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ โดยสามารถแยกย่อยออกได้ทั้งหมด 4 ประเภท คือ
- Motor or Expressive aphasia : ความบกพร่องทางการพูด
- Amnesic aphasia : ความบกพร่องทางการนึกคำพูด/ทวนซ้ำ
- Sensory or Receptive aphasia : ความบกพร่องทางความเข้าใจ
- Global aphasia : ความบกพร่องทั้งทางการพูดและการทำความเข้าใจ
ซึ่งในกรณีของบรูซ วิลลิส เริ่มแรกเขามี “อาการบ่งพร่อง” ขณะที่ทำการแสดงอยู่ ทีมงานในกองถ่ายเริ่มสังเกตเห็นว่าบรูซยิงปืนผิดจังหวะในระหว่างการถ่ายทำ Hard Kill, 2020 และต้องมีคนช่วยอ่านบทพูดให้ฟังผ่าน earpiece เพราะเขาจำไม่ได้ ส่วนฉาก Action ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักแสดงคนอื่นแทน จนมาถึงการถ่ายทำเรื่อง Paradise City ปี 2022 บรูซมีอาการที่แย่ลงหนักกว่าเดิม เขาเริ่มออกอาการสับสน ในขณะถ่ายทำ แต่ยังคงพูดกับผู้กำกับตลอดการถ่ายทำว่า "ผมจะทำให้ดีที่สุด" ทำให้ทีมงานและผู้กำกับหลายคนได้ออกมาให้ความเห็นว่า เราควรให้เขาได้พักผ่อนจริงๆเสียที ทุกคนต่างนับถือเขาในฐานะนักแสดงคนหนึ่งและผู้ชายคนหนึ่งที่ทุ่มเทให้กับการแสดงจนสุดความสามารถ เขาถือว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลและเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครมามากมาย ตอนนี้ถึงเวลาที่เขาต้องเกษียณแล้ว
ล่าสุดในปี 2566 นี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาภรรยาของบรูซ วิลลิส ได้ออกมาเผยถึงอาการของเขาว่า ได้ผลวินิจฉัยอย่างชัดเจนมากขึ้นว่าเขามีภาวะของ โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม หรือ Frontotemporal Dementia (FTD) อาการของเขาทรุดตัวลง มีความบกพร่องเกี่ยวกับการสื่อสาร ทางครอบครัวอยากใช้เวลากับเขาให้มากที่สุด ทางด้านลูกสาวเร่งจัดเตรียมงานแต่ง เพื่อที่จะให้บรูซได้เข้าร่วมพิธีและกล่าวแสดงความยินดี ก่อนที่อาการของเขาจะทรุดตัวลงไปมากกว่านี้
โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม หรือ Frontotemporal Dementia (FTD) คืออะไร?
คือ ภาวะที่มีการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทบริเวณสมองส่วนหน้า เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อม เนื่องจากมีการฝ่อของสมองส่วนที่อยู่ด้านหน้า ส่งผลต่อพฤติกรรมและการใช้ภาษาของผู้ป่วย ส่วนสมองที่ฝ่อจะประกอบไปด้วยสมองกลีบหน้า (frontal lobe) และสมองส่วนขมับหรือกลีบข้างส่วนหน้า (anterior temporal lobe)
ส่วนของสมองส่วนหน้า (frontal lobes) อยู่ในตำแหน่งบริเวณหน้าผาก ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา การวางแผน ควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งในส่วนทางด้านซ้ายของบริเวณสมองส่วนหน้ามีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมการพูด (เห็นได้ชัดว่าอาการของคนที่เป็นโรคสมองส่วนหน้าเสื่อมจะเริ่มมาจากความบกพร่องในการสื่อสาร)
ส่วนของสมองด้านข้างบริเวณใกล้ขมับ (temporal lobes) ในส่วนทางด้านซ้าย จะทำหน้าที่ในการรับรู้เสียง ความจำ การตีความของภาษา และชื่อของสิ่งต่างๆ ด้านขวาจะทำหน้าที่ควบคุมความสามารถในการจดจำใบหน้าและสิ่งต่างๆรอบตัว
สาเหตุการเกิดโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม
สาเหตุการฝ่อเกิดจากการสะสมของโปรตีนผิดปกติในสมอง มีการสร้างโปรตีนมากเกินไปทำให้กลไกของร่างกายกำจัดไม่ทัน จนทำให้เซลล์สมองเกิดความเสียหาย แม้โรคนี้จะอยู่ในกลุ่มของโรคสมองเสื่อมเหมือนกัน แต่โรคสมองเสื่อมส่วนหน้ามีความแตกต่างจากสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคอัลไซเมอร์เป็นการฝ่อของสมองในส่วนด้านหลัง โรคสมองส่วนหน้าเสื่อมจะพบได้น้อยกว่าสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ มักตรวจพบได้ทั้งชายและหญิง อายุระหว่าง 45 ถึง 65 ปี
อาการของโรคสมองเสื่อมส่วนหน้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม (Behavioral Variant)
- สูญเสียทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสาร (Progressive non-fluent aphasia)
- มีความบกพร่องของการเลือกใช้คำศัพท์ (Semantic Dementia)
โรคสมองส่วนหน้าเสื่อมยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
ชนิดปัญหาพฤติกรรมเด่น ตัวผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆวนไปมาแบบไม่มีจุดหมาย สูญเสียความสามารถในการวางแผนการทำงาน
ชนิดปัญหาด้านการใช้ภาษาเด่น ผู้ป่วยจะมีปัญหา นึกคำพูดไม่ออก มีลักษณะพูดจาติดขัดตะกุกตะกัก มีอาการสับสน มึนงง หรืออาจถึงขั้นสูญเสียความเข้าใจในความหมายของคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สิ่งของ สภาพอากาศ การบอกทิศทาง จนถึงขั้นที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจได้
ปัจจุบัน โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือชะลอการดำเนินไปของโรคได้ การรักษาในปัจจุบันจะเน้นการช่วยเหลือบรรเทาอาการต่างๆให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจขึ้น โดยใช้ทีมแพทย์ด้านจิตเวช นักบำบัด (ด้านการพูดและการใช้ภาษา) พร้อมกับช่วยเหลือผู้ป่วยในด้านต่างๆเพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้และใช้ชีวิตได้ตามปกติ