วันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมพริบพรี ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี
การนี้ รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้นำข้อเสนอแนะตามที่องคมนตรีได้ให้ไว้มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้แต่ละโครงการเกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำในพื้นที่โดยสร้างความร่วมมือกับประชาชนในการช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่ การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสัตว์ป่าให้อยู่คู่กับป่าและอยู่ร่วมกับคนได้
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้สรุปผลการดำเนินงานโครงการที่อยู่ในคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะโครงการเป็นการปรับปรุงคลองระบายน้ำ คลองส่งน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรีเมื่อเกิดฝนตกหนักเกิน 230 มิลลิเมตร ติดต่อกันเป็นเวลานาน 48 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากต้นน้ำไหลล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ เกิดเป็นอุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักเกิดจากแม่น้ำเพชรบุรีและระบบคูคลองต่าง ๆ ไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากพื้นที่บางส่วนถูกบุกรุก สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยสำนักงาน กปร.ได้สนับสนุนงบประมาณแก่กรมชลประทานเพื่อดำเนินงานโครงการฯ ในระยะแรก ต่อมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ รวมทั้ง ดำเนินการเพิ่มศักยภาพคลองระบายน้ำ D9 และการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ D1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ D1
สำหรับพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 105 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 104 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 1 โครงการ โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้โครงการ บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ช่วงบ่าย คณะเดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี บริเวณจุดก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1)
ต่อมา เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะพบปะพูดคุยกับผู้แทนเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ และมอบเมล็ดพันธุ์พืชจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้แก่ ผู้แทนเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 15 คน จากนั้น ร่วมปล่อยปลาลงในอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ เพื่อขยายพันธุ์เป็นแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ต่อไป
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย และการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 ตามที่ราษฎรตำบลเขากระปุกมีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย บ้านโป่งเกตุ หมู่ที่ 9 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (หนองพลับ) เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยสำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณในปี 2551 และ 2553 ให้แก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ ที่มีสภาพตื้นเขินและสระเก็บน้ำบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ขุดลอกสระเก็บน้ำตาพูล และสระเก็บน้ำบ้านกลุ่ม 12 เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ แบ่งเป็นภาคเกษตรร้อยละ 70 ที่เหลือร้อยละ 30 เพื่อเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ของอ่างเก็บน้ำรวมถึงเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่าง 1,558,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 38.45 ช่วยให้ชุมชนทั้งที่อยู่ในเขตพื้นที่รับน้ำชลประทานของอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรเพิ่มขึ้น จำนวน 1,790 ครัวเรือน 6,710 คน สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 4,500 ไร่ในฤดูฝน และจำนวน 2,000 ไร่ ในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาอุทกภัย โดยมีการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ส่งผลให้ราษฎรมีน้ำใช้เพียงพอ มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สร้างรายได้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน ทำให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
จากนั้น คณะเดินทางไปยังแปลงเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 2 ราย ได้แก่ แปลงเกษตรของ นายสมนึก เทศอ้น อาสาสมัครชลประทาน และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่ทำการเกษตร 6 ไร่ พืชที่ปลูก ได้แก่ กะหล่ำดอก กล้วยหอมทอง มะเขือ และแตงกวา รวมรายได้จากการทำการเกษตร 130,000 บาท/ปี และแปลงเกษตรของ นางองุ่น แก้วเมืองเพชร ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่ทำการเกษตร 15 ไร่ พืชที่ปลูก ได้แก่ มะนาว มะพร้าว ขนุน ลำไย กล้วย และปาล์มน้ำมัน โดยส่งกล้วยหอมจำหน่ายให้แก่บริษัทโดล เพื่อจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ มีรายได้ประมาณ 150,000 บาท/รอบการปลูก รวมรายได้จากการทำการเกษตรทั้งสิ้น 200,000 บาท/ปี