พายุสุริยะคืออะไร? สามารถทำอินเตอร์เน็ตล่มทั่วโลกได้จริงเหรอ?

04 สิงหาคม 2566, 10:57น.


ข้อมูลจากเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ออกมาบอกเล่าถึงเรื่อง นาซ่ากำลังเฝ้าจับตาดู “พายุสุริยะ” ในปี 2025 ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นและคาดว่ามีโอกาสเกิน 10 เปอร์เซ็น ที่จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มยาวนานเป็นเดือนๆ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเพียงแค่การสันนิฐานเบื้องต้น ในตอนนี้ทางนาซ่าและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องอยู่ในช่วงเตรียมรับมือและหาวิธีการเตือนภัยให้ประชาชนได้รับรู้ถึงเหตุการณ์พายุสุริยะได้ทันท่วงที



พายุสุริยะ(Solar storm) คืออะไร ? 

เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการที่ผิวดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานอย่างรุนแรงขึ้นมากด้วยปริมาณและความเร็วสูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้อนุภาคประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจำนวนมหาศาล เป็นตัวการที่ทำให้เกิดแสงเหนือใต้ และพายุแม่เหล็ก ส่งผลรบกวนระบบการสื่อสาร ดาวเทียม ยานอวกาศ และระบบสายส่งสัญญาณบนโลกใช้งานขัดข้อง เช่น อาจทำให้เครื่องบินไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการได้ โทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้ อินเตอร์เน็ตล่ม ซึ่งในปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ หากเกิดพายุสุริยะขึ้นมาอาจทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมามากกว่าครั้งก่อนที่เคยเป็น



สาเหตุการเกิดของพายุสุริยะ 4 รูปแบ

ลมสุริยะ (solar wind) คือ กระแสของอนุภาคประจุไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์สู่อวกาศ จึงมีชื่อในทฤษฎีว่า สุริยะ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอิเล็กตรอนและโปรตอน ซึ่งมีพลังงานเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10-100 eV กระแสอนุภาคเหล่านี้มีอุณหภูมิและความเร็วที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลา กระแสอนุภาคจะหลุดออกพ้นจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ได้เนื่องจากมีพลังงานจลน์และอุณหภูมิโคโรนาที่สูงมาก ลมสุริยะทำให้เกิดเฮลิโอสเฟียร์ คือฟองอากาศขนาดใหญ่ในมวลสารระหว่างดาวที่ครอบคลุมระบบสุริยะเอาไว้ ลมสุริยะยังทำให้เกิดปรากฏการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่

- พายุแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ไฟฟ้าบนโลกใช้การไม่ได้ในบางครั้ง

- ออโรรา (Aurora) เป็นปรากฏการณ์แสงเรืองบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน

- หางพลาสมาของดาวหางจะชี้ออกไปจากดวงอาทิตย์

เปลวสุริยะ (solar flare) คือ การระเบิดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ชั้นโครโมสเฟียร์ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์  เปลวสุริยะส่วนมากจะเกิดขึ้นในย่านแอ็กทีฟเช่น บริเวณจุดมืดดวงอาทิตย์ ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ทั้งหมด (โฟโตสเฟียร์, โครโมสเฟียร์, และโคโรนา) ทำให้พลาสมามีความร้อนถึงหลายสิบล้านเคลวิน และเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน โปรตอน และไอออนหนักจนเข้าใกล้ความเร็วแสง อีกทั้งสามารถส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลก และทำลายการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุช่วงยาว

การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection, CME) เป็นการปลดปล่อยก้อนมวลออกมาจากบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ มักเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์อื่นที่เกิดขึ้นระดับโคโรนาชั้นล่าง บ่อยครั้งที่พบว่าเกิดขึ้นร่วมกับเปลวสุริยะและโพรมิเนนซ์ แต่บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีปรากฏการณ์สองอย่างนี้เลย

อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ หรือ พายุสนามแม่เหล็กโลก (Geomagnetic storm) อาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบแรกเกิดพร้อมกับเปลวสุริยะ ส่วนอีกหนึ่งแบบเกิดจากการที่การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนาความเร็วสูงพุ่งแหวกไปในกระแสลมสุริยะทำให้เกิดคลื่นกระแทกเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก โดยอนุภาคสุริยะพลังงานสูงจะเกิดขึ้นในบริเวณคลื่นกระแทกนี้



ที่มา : องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration : NASA)



X