!-- AdAsia Headcode -->

ทำความรู้จัก ไดโนเสาร์ไทยทั้ง 13 สายพันธุ์ในไทย ค้นพบน้องใหม่ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” นักวิ่งตัวจิ๋วแห่งภูน้อย

15 สิงหาคม 2566, 15:21น.


      เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณีได้ออกมาแถลงข่าวถึงการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก

      มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis) มีการขุดค้นพบตั้งแต่ปี 2561 ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ขนาดลำตัวยาว 60 เซนติเมตร และสามารถเติบโตจนมีขนาดลำตัวยาว 2 เมตรได้เมื่อโตเต็มวัย ในครั้งนี้เจอกระดูกมากกว่า 60% ที่เรียงต่อกันได้ จัดว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก ซึ่งการค้นพบไดโนเสาร์ตัวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร และศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในฝรั่งเศส รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรณี ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

      มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส เป็นไดโนเสาร์ประเภทกินพืชขนาดเล็ก กลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือ ออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยอยู่ในยุคปลายจูแรสสิก หรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน ลักษณะภายนอกมีรูปร่างเล็ก ยืนและวิ่งด้วยสองขา ขนฟูทั่วตัว ส่วนศีรษะเป็นสีชมพู ตากลมโต ปากเป็นจงอยสั้นๆคล้ายกับนก มีฉายาว่า นักวิ่งตัวจิ๋วแห่งภูน้อย มาจากชื่อภาษาอังกฤษ มินิมัส (minimum) จากภาษาละตินแปลว่า ขนาดเล็ก และเคอร์เซอร์ (cursorial หรือ cursory) แปลว่า เกี่ยวกับการวิ่งที่รวดเร็วมาก ส่วนภูน้อยคือแหล่งที่พบฟอสซิล

ไดโนเสาร์ไทยทั้ง 13 สายพันธุ์ในไทย

ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์ชนิดใหม่และสกุลใหม่ของโลก เป็นไดโนเสาร์กินพืชเดิน 4 เท้า ความยาวทั้งตัวประมาณ 15-20 เมตร มีลำคอและหางยาว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์

กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaennsis) ไดโนเสาร์คล้ายนกกระจอกเทศ กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร วิ่งเร็ว ว่องไว ลักษณะที่เห็นชัดคือไม่มีฟัน มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร อาศัยอยู่ในช่วง ยุคครีเทเชียส เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์

สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย เดิน 2 เท้า ลักษณะของฟันคล้ายฟันจระเข้ กินปลาเป็นอาหาร มีความยาวประมาณ 7 เมตร อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี สกลนคร

สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ เดิน 2 เท้า ขาหลังใหญ่ แข็งแรง มีความยาวประมาณ 6.5 เมตร อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี และนครราชสีมา

อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi) ไดโนเสาร์กินพืช อาศัยอยู่ในช่วงยุคไทรแอสซิกตอนปลาย เมื่อประมาณ 210 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดชัยภูมิ

ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki) ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 เมตร อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปี ก่อน พบที่จังหวัดชัยภูมิ

สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami) ไดโนเสาร์กินพืช มีกระดูกสะโพกแบบนก ขาหลังทั้งสองมีขนาดใหญ่ ขาหน้ามีขนาดเล็กกว่ามาก สามารถเดินได้ด้วย 2 ขา หรือ 4 ขา โดยใช้ขาหน้าช่วยพยุง อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่จังหวัดอุบลราชธานี และนครราชสีมา

สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis) ไดโนเสาร์อิกัวโนดอน กินพืชเป็นอาหาร มีกระดูกสะโพกแบบนก และอยู่ในกลุ่มย่อยที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม ฟันคล้ายอิกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่า อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน พบที่บ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae) ไดโนเสาร์ประเภทกินพืช จัดอยู่ในกลุ่มที่มีสะโพกแบบนก กลุ่มเดียวกับอิกัวโนดอน อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่ จังหวัดนครราชสีมา

ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi) ไดโนเสาร์กินเนื้อเทอโรพอต ขนาดกลาง มีลำตัวยาว 6 เมตร อยู่ในกลุ่มเมกะแรพเตอร่า อายุ 130 ล้านปี พบที่หลุมขุดค้นที่ 9B  อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor Suwati) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกันกับ ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ เป็นไดโนเสาร์สกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัสตัวแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบครั้งแรกที่แหล่งขุนค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis) ฉายาจ้าวลมกรด เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 4 - 4.5 เมตร อายุ 130 ล้านปี ค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู



ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี



X