แพลงก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากธาตุอาหารลงทะเลมากในหน้าฝน บางจังหวะมีแดดแรง กระบวนการในทะเลเหมาะสม ทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มเร็ว กิจกรรมของคน เช่น การทำเกษตร เพิ่มธาตุอาหาร ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม
จากกรณีน้ำทะเลสีเขียวเข้มที่ชายหาดบางแสน สาเหตุเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans เพิ่มจำนวนมากผิดปกติ จัดว่าเป็นแพลงก์ตอนไม่มีพิษ สามารถกินอาหารทะเลได้ตามปกติแต่ควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำไว้ก่อน
แม้ว่าแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans จะไม่สร้างสารพิษ แต่คนที่แพ้อาจเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังเมื่อสัมผัสและกลายเป็นผื่นแดงได้ เมื่อมีปริมาณมากอาจทำให้เกิดการสะสมของสารแอมโมเนียในทะเลบริเวณนั้น ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในน้ำลดระดับลงจึงทำให้สัตว์น้ำตายได้
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบันมีรายงานชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีมากกว่า 300 ชนิดด้วยกัน เกือบ 1 ใน 4 สามารถสร้างสารชีวพิษได้ เป็นกลุ่มที่สร้างสารชีวพิษสะสมในสัตว์ทะเลและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยมี 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1.พิษอัมพาต (Paralytic Shellfish Poisoning : PSP) ออกฤทธิ์ต่อปลายประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ
2.พิษท้องร่วง (Diarrhetic Shellfish Poisoning : PSP) มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร
3.พิษที่ทำให้ความจำเสื่อม (Amnesic Shellfish Poisoning : ASP) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง อาจส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ
4.พิษต่อระบบประสาทรับความรู้สึก (Neurotoxic Shellfish Poisoning : NSP) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
5.พิษซิกัวเทอร่า (Ciguatera Fish Shellfish Poisoning : GSP) ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร
ทั้งนี้การที่เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมสีเขียวเข้มอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับหลายๆคน แต่จริงๆแล้วการเกิดแพลงก์ตอนบลูมในครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นผลกระทบของ เอลนีโญ ที่กำลังเข้าอ่าวไทยบ้านเรา โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่าเอลนีโญจะรุนแรงสุดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย