!-- AdAsia Headcode -->

ฝันร้ายบ่อยๆ สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ...ไม่อยาก ฝันร้าย ต้องทำอย่างไร?

23 สิงหาคม 2566, 16:16น.


      การนอนจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจให้มากที่สุด เพราะ 1 ในสาเหตุของปัญหาโรคภัยไข้เจ็บนั้นส่วนใหญ่มักมาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด เปรียบเสมือนยารักษาและฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้าในแต่ละวันให้กลับมาสดใส แข็งแรง

      “ฝันร้าย” เป็นภาวะที่หลายคนไม่อยากพบเจอ เพราะนอกจากจะทำให้ค่ำคืนของการพักผ่อนที่ดีเต็มไปด้วยเรื่องราวร้ายๆแล้วยังส่งผลต่อช่วงเวลาที่ตื่นนอนขึ้นมาอีกด้วย ฝันร้ายมักก่ออารมณ์ด้านลบที่กระทบความรู้สึกและจิตใจของผู้ฝัน เนื้อหาส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่น่ากลัว บางคนอาจฝันถึงการสูญเสียหรือวิ่งหนีบางสิ่งบางอย่าง แม้เรื่องราวในความฝันที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความจริง แต่พอได้ลืมตาตื่นแล้วกลับเกิดความรู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวล เศร้า เสียใจ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 

สาเหตุของฝันร้าย

- มาจากความวิตกกังวลและความเครียด

- การสูญเสียบุคคลที่รักหรือพบเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง

- ผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ

- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากเกินไป

- ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

- การรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์

- ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ซึ่งภาวะอย่างหลังมักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยพบเจอมา เป็นภาพฉายซ้ำ ๆ บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน

      แม้ว่าแต่ละคนต่างมีเรื่องราวความฝันที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามหากเราฝันร้ายติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืน เพราะฝันร้ายสามารถบอกถึงปัญหาสุขภาพของเราได้ ลักษณะของฝันร้ายที่บอกถึงปัญหาสุขภาพหรือความผิดปกติของสภาพจิตใจ มีดังนี้

- เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในบางคนฝันติดต่อกันหลายคืน

- สะดุ้งตัวจากฝันร้ายกลางดึกอยู่เสมอ ทำให้รบกวนเวลานอนหลับ

- เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ทั้งช่วงเวลาที่กำลังนอนฝันหรือตื่นนอนขึ้นมาแล้ว

- ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ไม่มีสมาธิทำงาน ไม่กล้าเข้าสังคม

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝันร้าย

งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม

เลี่ยงการเสพสื่อโซเชียลด้านลบหรือติดตามข่าวเครียด ๆ

ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง

ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาทีในช่วงเย็น

รักษาอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นมากเกินไป

ทำห้องให้มืดสนิทจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

กำหนดเวลาเข้านอนเวลาเดิมในทุกวันเพื่อให้ร่างกายได้จดจำเวลาเข้านอนและตื่นนอน



ที่มา : RAMA CHANNEL คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี



 

X