!-- AdAsia Headcode -->

“วินัยทางกีฬา” และ “วินัยทางจราจร” ความเหมือนที่แตกต่าง… สองรวมเป็นหนึ่ง เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะ โครงการ “ตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง” จากวินัยสู่น้ำใจ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

01 กันยายน 2566, 14:44น.


      วินัยทางกีฬากับวินัยทางจราจร ความเหมือนที่แตกต่าง…? วินัยควรต้องมีกันทุกคน ทุกสังคม แต่วินัยสองอย่างนี้ มีทั้งความเหมือนและความต่าง กีฬาต้องมีวินัยเพื่อชัยชนะ ประสบความสำเร็จ แต่ชัยชนะของการจราจร คือการที่เราเดินทางไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

      เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาทางทีมงานจส.100ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์โค้ชโป้ง อริยะ อมาตยกุล หนึ่งในโค้ชผู้เข้าร่วมโครงการ ตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง โดยทาง สสส. เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากอย่างแรกเลยก็คือ โครงการนี้เล็งเห็นถึงปัญหาของสังคมเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ส่วนใหญ่อุบัติเหตุมักมาจากการที่ไม่ใส่ใจในการสวมหมวกกันน็อก เพราะในปัจจุบันหมวกกันน็อกมีราคาค่อนข้างแพง หลายครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอต่อการซื้อหมวกมาใส่ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดทุนทรัพย์ในการซื้อหมวกกันน็อก อีกทั้งยังส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของวินัยจราจรบนท้องถนน



      วินัยทางกีฬากับวินัยจราจร ถึงแม้จะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันแต่ก็ต้องใช้วินัยในการบรรลุเป้าหมายนั้นเหมือนกัน โครงการ ตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กๆได้มีวินัยในการฝึกซ้อมในการเล่นกีฬาได้ไปแข่งขันเพื่อประสบการณ์และเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากจะสอนให้เด็กๆได้มีวินัยในตัวเองแล้วยังสอนให้พวกเขาได้รู้จักการแบ่งปันอีกด้วย เรามาดูมุมมองของ โค้ชโป้ง อริยะ อมาตยกุล พูดถึงโครงการนี้กันว่าโค้ชมีแนวคิดเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างไร และโค้ชมีวิธีการฝึกฝนเด็กๆอย่างไรให้มีวินัยทั้งการฝึกซ้อมและวินัยจราจร

JS100 : จุดเริ่มต้นที่โค้ชได้พาน้องๆมาเข้าร่วมโครงการ?

โค้ชโป้ง : โครงการ ตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง เป็นโครงการที่จัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ทางเราเล็งเห็นว่าการที่เด็กๆได้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นการฝึกฝนทั้งด้านทักษะ วินัย ความอดทน ปลูกฝังให้เด็กทุกคนได้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ อีกทั้งการที่ได้มาฝึกซ้อมแบดมินตันนี้ นอกจากจะช่วยฝึกทักษะและได้ร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย

JS100 : เวลาที่เด็กๆและผู้ปกครองเดินทางมาฝึกซ้อมที่สนามแบดมินตัน เห็นพวกเขาใส่หมวกกันน็อคกันบ้างไหม?

โค้ชโป้ง : ในช่วงแรกไม่ค่อยเห็นครับ แต่พอได้เข้าร่วมโครงการนี้แล้วเด็กๆและผู้ปกครองทุกคนก็เริ่มหันมาใส่หมวกกันน็อกกันมากขึ้น”

JS100 : มีเด็กๆในโครงการทั้งหมดกี่คน อายุเท่าไรบ้าง?

โค้ชโป้ง : ตอนนี้มีทั้งหมด 15 คน อายุตั้งแต่ 8 – 13 ปี ครับ มาจากหลากหลายโรงเรียนที่คัดเลือกกันเข้ามา

JS100 : เห็นว่าโครงการได้เริ่มต้นไปแล้วที่จังหวัดขอนแก่น บรรยากาศภายในงานเป็นยังไงบ้าง?

โค้ชโป้ง : เป็นการเดินทางไปแข่งขันที่ได้ทั้งความสนุกและได้ร่วมทำบุญช่วยเหลือคนอื่นด้วย เด็กๆทุกคนพูดว่ารู้สึกสนุกและดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ภายในงานมีหลากหลายสโมสรเข้ามาร่วมกิจกรรมในโครงการครั้งนี้ด้วยครับ บรรยากาศเลยคึกคักมากเป็นพิเศษ

JS100 : หลังจากที่แข่งขันจบ โค้ชมีวิธีบอกเด็กๆยังไง เมื่อเด็กบางคนแข่งขันแพ้?

โค้ชโป้ง : การที่เราแพ้ไม่ได้แปลว่าเราเล่นแย่ เพียงแต่ว่าเราอาจขาดอะไรไป เช่น เรื่องวินัย การฝึกซ้อมที่ไม่เพียงพอ ทักษะ อารมณ์ อย่างน้อยเราก้ได้ประสบการณ์และได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าเราควรพัฒนาตัวเองในจุดไหนให้ดีขึ้น

JS100 : โค้ชรู้สึกอย่างไร หลังจากที่เราได้แข่งขันแล้วนำเงินรางวัลที่ได้มาไปบริจาคซื้อหมวกกันน็อกให้กับผู้ที่ขาดแคลน?

โค้ชโป้ง : โครงการนี้ดีมากเลยครับ เพราะทำให้เด็กๆเขาได้รู้จักแบ่งปันน้ำใจได้ช่วยเหลือคนอื่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเสียสละที่จะทำให้พวกเด็กๆเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

JS100 : ถ้าเกิดโครงการนี้ยังคงดำเนินจัดกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ โค้ชคิดว่าดีไหม?

โค้ชโป้ง : ถ้าโครงการนี้ยังมีต่อไปในอนาคต ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆหลังจากที่ผมได้ไปลงพื้นที่ที่เชียงราย ได้ไปเห็นการเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เห็นจุดเกิดอุบัติเหตุที่เป็นผลมาจากการไม่สวมหมวกกันน็อก ในปัจจุบันหมวกกันน็อกมีราคาหลายร้อยบาท ซึ่งหลายๆครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะซื้อมาใช้ได้ ทำให้หลายคนละหลวมเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โครงการนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนและยังช่วยให้หลายคนได้มีหมวกกันน็อกใช้เพื่อความปลอดภัยกับชีวิต

JS100 : สุดท้ายนี้โค้ชอยากฝากบอกอะไรไหม?

โค้ชโป้ง : อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในโรงการนี้กันเยอะๆ เด็กๆจะได้หันมาสนใจในกีฬากันมากขึ้น ดีกว่าไปติดเกม ติดการพนัน หรือยาเสพติด นอกจากจะได้ทักษะในการเล่นกีฬาแล้วทางเรายังสอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ปลูกฝังความมีวินัยในทุกๆด้าน ความเสียสละ ความอดทน เพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้





      นอกจากที่เราได้พูดคุยกับโค้ชแล้ว เรายังได้พูดคุยกับเด็กๆในโครงการอีก 2 คนด้วยกัน คือ น้องภพ เพลงชาติ เหมือนแก้ว อายุ 8 ปี โรงเรียนอมาตยกุล และน้องบั๊ค วศิน ศริภูมาศ อายุ 13 ปี St. Stephen's International School

JS100 : เริ่มเล่นแบดมินตันตอนไหน ทำไมถึงเลือกเล่นกีฬานี้?

น้องภพ: เริ่มเล่นแบดมินตันมา 2 ปีแล้วครับ ตอนแรกผมไม่ออกกำลังกายแล้วผมป่วยบ่อย คุณพ่อเลยให้มาตีแบดฯ กับพี่ชาย พอได้ตีบ่อยผมก็รู้สึกชอบ สนุกทุกครั้งที่ได้มาตีแบดฯ ครับ ช่วงแรกๆผมไปแข่งก็ตกรอบตลอด จนล่าสุดผมไปแข่งที่ขอนแก่น ได้ที่ 3 มาครับ

JS100 : น้องภพรู้สึกยังไงกับโครงการตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง คิดว่าดีไหมที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น?

น้องภพ: รู้สึกว่าโครงการนี้ดีมากๆเลยครับ เพราะว่าบางคนที่เขาไม่มีเงินซื้อหมวกกันน็อก เวลาเขาขับมอเตอร์ไซค์มันก็อันตราย ผมว่าโครงการนี้ได้ช่วยเหลือให้พวกเขาได้มีหมวกกันน็อกใส่จะได้ป้องกันอุบัติเหตุด้วยครับ

JS100 : คิดว่าการที่ใส่หมวกกันน็อกช่วยให้อุบัติเหตุลดลงไหม?

น้องภพ: ผมว่าช่วยได้เยอะครับ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ถ้าไม่ใส่หมวกกันน็อกก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงไปเลย แต่ถ้าใส่มันจะช่วยลดโอกาสพวกนั้นได้เยอะเลยครับ





JS100 : เริ่มเล่นแบดมินตันตอนไหน ทำไมถึงเลือกเล่นกีฬานี้?

น้องบั๊ค : เริ่มมาตั้งแต่ 4 ขวบเลยครับ รู้สึกชอบเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบออกกำลัง สมัยผมเด็กๆผมมีน้ำหนักตัวเยอะพอโตขึ้นมาเลยอยากลดน้ำหนักบวกกับผมชอบเล่นกีฬา พอได้ตีแบดฯ มาเรื่อยๆทำให้ผมรู้สึกมี Passion  และมีเป้าหมายมากขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มจริงจังกับแบดฯ มากขึ้นครับ โค้ชไม่ได้สอนแค่เรื่องแบดฯ ให้อย่างเดียวด้วยครับแต่ยังสอนถึงการมีวินัย ฝึกความอดทน มีน้ำใจนักกีฬา แพ้ได้แต่อย่าถอยครับ แรกๆผมลงแข่งก็ตกรอบไม่ได้รางวัล ผมเลยตั้งใจพยายามฝึกซ้อมให้ได้มากที่สุด จนล่าสุดผมแข่งแบบคู่คว้ารางวัลที่ 3 มาได้ครับ

JS100 : รู้สึกยังไงกับโครงการตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง คิดว่าดีไหมที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น?

น้องบั๊ค : ดีครับ ผมอยากให้มีจัดต่อไปเรื่อยๆเลยครับ เพราะคนในยุคนี้ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการสามหมวกกันน็อกเท่าไรครับ แต่พอมีโครงการนี้เกิดขึ้นมาทำให้หลายๆคนหันมาใส่ใจการสวมหมวกกันน็อกกันมากขึ้น แถมยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วยครับ

JS100 : อยากฝากบอกอะไรกับคนที่ไม่สวมหมวกกันน็อกเวลาเดินทางไหม?

น้องบั๊ค : อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ครับ การที่สวมหมวกกันน็อคมันช่วยไว้ได้มากจริงๆครับ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจะได้ไม่เสียใจในภายหลังครับ





      สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของโครงการนี้คือ การปลูกฝังวินัยในมุมของเด็ก เพราะเด็กเปรียบเสมือนไม้อ่อน ดัดง่าย การที่เราได้ปลูกฝังในตอนนี้จะเป็นผลดีในระยะยาว ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า สำหรับการแข่งขันที่จัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เด็กๆกลุ่มนี้ได้มีโอกาสฝึกฝนตัวเองไปแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการมอบหมวกกันน็อกที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของโครงการและเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กๆกลุ่มนี้ นอกจากจะสร้างวินัยเพื่อตัวเองแล้วยังสร้างโอกาสให้แก่คนอื่นอีกด้วย

      โครงการ ตีแบดฯ เพื่อหัวน้อง จะมีอีกเมื่อไร แข่งขันที่ไหน และการมอบหมวกกันน็อกจะไปมอบที่ไหนอีกบ้าง ทาง จส.100 จะมาอัปเดตให้ทุกคนได้ทราบกันเรื่อยๆนะคะ













X