ผู้เยาว์กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไร? เปิดบทลงโทษทางกฎหมายต่อเด็กและเยาวชน

05 ตุลาคม 2566, 15:02น.


      จากกรณีข่าวกราดยิงที่สยามพารากาอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ผู้คนที่อยู่บริเวณห้างได้รับความน่าสะพรึงกลัวและตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก สิ่งที่สร้างความไม่สบายใจแก่สายตาคนไทยทั้งประเทศคือ เยาวชนผู้ที่ลงมือมีอายุเพียงแค่ 14 ปี

      หลายคนมักทราบกันดีว่ากรณีที่เยาวชนเป็นผู้กระทำผิด กฎหมายจะให้ความคุ้มครองและให้สิทธิเด็กและเยาวชน โดยจะเน้นการแก้ไขตามอำนาจสั่งมาตรการพิเศษจากศาล หากมีอายุน้อยกว่า 15 ปี ศาลจะตัดสินว่า ทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่จะมีมาตรการพิเศษเพื่อสั่งคุมประพฤติและกำหนดให้ผู้ปกครองควบคุมการดูแล ประเด็นนี้จึงเป็นที่ถกเถียงและถูกตั้งคำถามกันอย่างมากในสังคมว่า ทำไมเยาวชนที่กระทำผิดจนสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตผู้อื่นถึงไม่ได้รับโทษตามที่สมควร

      ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ ซึ่งว่าด้วยมาตราที่ 5 ตามพระราชบัญญัติ คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด ให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนนั้นในวันที่การกระทำความผิดได้เกินขึ้น

      หากเด็กและเยาวชนกระทำผิดจะโดนบทลงโทษทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายทางอาญา มาตรา 73 – 76

มาตรา 73 ระบุไว้ว่า เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 74 ระบุไว้ว่า เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัว หากศาลเห็นสมควรจะเรียกพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง มาตักเตือนด้วยก็ได้

2. หากศาลเห็นว่าพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หากเด็กก่อเหตุร้ายขึ้น จะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท

3. ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็ก เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ศาลจะแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น

4. หากเด็กไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ศาลจะมีคำสั่งส่งมอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร

5. ส่งตัวเด็กไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เด็กอยู่จนเกินอายุ 18 ปี

มาตรา 75 ระบุไว้ว่า ผู้ใดอายุเกินกว่าสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น หากศาลเห็นว่าไม่สมควรลงโทษ จะกำหนดให้ดำเนินการตามมาตรา 74 หากศาลเห็นว่าควรลงโทษ ศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

มาตรา 76 ระบุไว้ว่า ผู้ใดอายุสิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ศาลอาจมีการลดโทษลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้

      ทั้งนี้การที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิด ผู้ปกครองอาจต้องรับผิดชอบโทษทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็น ผู้เยาว์หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”



ที่มา : พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553, พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551

X