!-- AdAsia Headcode -->

ส.อาหารสัตว์ชี้สัญญานอันตราย “บอนไซภาคปศุสัตว์ทั้งระบบ” ย้ำรัฐต้องแก้นโยบายวัตถุดิบทันที

วันนี้, 16:53น.


      20 กันยายน 2567 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ชี้เกิดภาวะบอนไซภาคปศุสัตว์ไทยทั้งระบบ ไม่มีทางเติบโตไปกว่าที่เป็นอยู่หลังถูกจำกัดปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกทิศทาง ซ้ำเติมด้วยปริมาณข้าวโพดที่จะหายไปจากระบบอีก 2 ล้านตัน/ปีจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ย้ำรัฐจำเป็นต้องตัดสินใจแก้นโยบายวัตถุดิบอาหารสัตว์ทันที ก่อน SME ตายกราวด์รูดเป็นกลุ่มแรก



      นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตั้งข้อสังเกตจากข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลังสมาคมการค้าพืชไร่เพชรบูรณ์ประกาศหยุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเป็นเวลา 3 วัน โดยอ้างราคาขายตกต่ำเกินกว่าจะทำกำไรว่า ปัจจุบันราคาข้าวโพดที่โรงงานอาหารสัตว์ซื้อจากผู้รวบรวมอยู่ที่ 10.50 บาท/กก.(ความชื้น14.5%) ราคาที่ผู้รวบรวมควรรับซื้อจากเกษตรกรควรอยู่ที่ 9.70 บาท/กก. (ความชื้น14.5%) และ 7.50 บาท(ความชื้น 30%) แต่ในข้อเท็จจริงเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวความชื้นสูงกว่า 35% จึงถูกผู้รวบรวมซื้อในราคาเหมาที่ 6-6.5 บาท/กก. หรืออาจจะต่ำกว่านั้นถ้าขายทั้งฝัก นับเป็นเรื่องน่าเห็นใจเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอย่างยิ่ง

      “นี่จึงเป็นความจำเป็นของโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่สมาคมฯ ได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ในสมัยที่ยังเป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรว่าราคาข้าวโพดจะไม่ต่ำไปกว่าที่ประกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนชนิดอื่น ๆ เลย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐต้องกำกับดูแลให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่ไปขายตามลานรับซื้อต่าง ๆ ให้เป็นไปตามโครงสร้างการประกันราคาที่กำหนด อย่าปล่อยให้มีการกดราคาซึ่งผู้รวบรวมจะคงส่วนต่างกำไรไว้เสมอ ดังคำพูดติดปากกันว่า ข้าวโพดแพงเกษตรกรปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ แต่เกษตรกรข้าวโพดกลับไม่ได้ราคาที่สูงตามที่ควรได้” นายพรศิลป์กล่าว

      ราคาที่โรงงานอาหารสัตว์จ่ายให้แก่ผู้รวบรวมที่ 10.50 บาท/กก. นี้สูงกว่าราคาที่ประกันรายได้ให้เกษตรไทยที่ได้หารือกับกรมการค้าภายในไว้ที่  9.80 บาท/กก. (ความชื้น14.5%) ณ หน้าโรงงานกรุงเทพปริมณฑล และยังสูงกว่าที่เกษตรกรเวียดนามจ่ายให้ข้าวโพดนำเข้าจากบราซิล อาเจนติน่า และสหรัฐอเมริกาที่มีราคาเพียง 8-9 บาทเท่านั้น ตรงนี้สะท้อนปัญหาโครงสร้างนโยบายวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่บิดเบี้ยวจนทำให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบและทำให้ต้นทุนการผลิตภาคปศุสัตว์ของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

      นายพรศิลป์ยังชี้ให้เห็นสัญญาณอันตรายที่เป็นข้อจำกัดไม่ให้ภาคปศุสัตว์ของไทยเติบโต จากข้อเรียกร้องหลายข้อที่แสดงให้เห็นแนวคิดที่จะจำกัดจำนวนวัตถุดิบให้ขาดแคลน เพื่อจุดประสงค์ในการยกราคาข้าวโพดให้สูงขึ้น อาทิ การจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน การกำหนดโควตาภาษีนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO รวมถึงมาตรการควบคุมนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น “อุตสาหกรรมไก่เนื้อ” เดิมมีอัตราการส่งออกเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% แต่หลังจากมีมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีในช่วงปลายปี 2559 ทำให้อัตราการเติบโตของการส่งออกไก่เนื้อรวมถึงการผลิตอาหารไก่เนื้อลดลงเหลือปีละ 1% เนื่องจากวัตถุดิบมีไม่เพียงพอและต้นทุนปรับสูงขึ้น หากยังคงแนวคิดนี้ต่อไป ปริมาณส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ปีละ 1.1 ล้านตัน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท จะหยุดนิ่งที่ตรงนี้ นอกเสียจะลดการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้ได้จำนวนไปส่งออกเพิ่ม แต่ก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนภายในประเทศแทน ราคาเนื้อไก่ที่ผู้บริโภคต้องซื้อก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย



      “จำนวนข้าวโพดจะไม่มีเพิ่มขึ้นแล้วเพราะผู้รวบรวมไม่ยอมให้เพิ่ม จะให้ไปใช้พืชชนิดอื่นก็ไม่ได้เพราะสารอาหารไม่เท่าข้าวโพด  เมื่อการผลิตอาหารสัตว์ต้องสะดุดเพราะไม่มีวัตถุดิบ จำนวนอาหารสัตว์ไม่พอป้อนตัวสัตว์ ราคาอาหารสัตว์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ราคาเนื้อสัตว์ก็สูงตาม ปัญหานี้ใหญ่มาก ลองมองดูตลอด Supply Chain ก็จะเห็นว่าไก่ส่งออกก็จะติดขัด ไม่สามารถขยายตลาดได้ ยอดขายกว่าแสนล้านไม่โต กลุ่ม SME จะเป็นกลุ่มแรกที่ไปต่อไม่ไหว หลังจากนั้นภาคปศุสัตว์ของประเทศจะล้มพับทั้งระบบ นับเป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับพวกเราทุกคน”

      นอกเหนือจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคจากกลุ่มผู้รวบรวมแล้ว ยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ปัญหา PM2.5 ที่ล้วนเป็นตัวทับถมให้ทำให้ปริมาณข้าวโพดที่จะใช้ได้นั้นลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต้องลดการซื้อข้าวโพดรุกป่าและข้าวโพดที่ผ่านการเผาซึ่งหากคิดตัวเลขที่ซื้อไม่สามารถซื้อได้ 10% เท่ากับข้าวโพดในประเทศจะหายไป 5 แสนตัน นอกจากนี้ข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าปลอดการเผาและรุกป่าก็จะไม่สามารถนำเข้ามาได้ ซึ่งจำนวนนำเข้าเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านตันจะหายไป รวมปริมาณข้าวโพดที่จะหายไปทั้งระบบ 2 ล้านตันต่อปี



      “สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องเตรียมตัวและเร่งแก้ปัญหาทันที อย่ามัวแต่สนใจพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่มีวิสัยทัศน์เพียงขอบเขตทำกำไรของตน ห่วงแค่ว่าถ้าข้าวโพดเข้ามาเยอะแล้วราคาจะตก จะห่วงทำไมในเมื่อมีการประกันรายได้ให้เกษตรกรแล้ว  ผมจึงอยากให้รัฐมีวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลกว่าคนกลุ่มนี้ และเร่งพิจารณาแก้ไขโครงสร้างทั้งหมดทันทีก่อนจะสายเกินแก้” นายพรศิลป์กล่าว

      อนึ่ง สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย มีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเสนอให้มีการประกันรายได้เกษตรกรในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม และเปิดให้มีการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเสรีให้เพียงพอต่อความต้องการในราคาที่แข่งขันได้ จะทำให้เกษตรกรข้าวโพดได้รับการดูแลไปพร้อมกับเกษตรกรปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่เดียวกัน เพราะหากประเทศไทยไม่สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ไปแข่งขันได้ ปัญหาจะย้อนกลับมากระทบทุกข้อต่อในห่วงโซ่ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดด้วย ขณะเดียวกัน ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาตลาดส่งออกสินค้าปศุสัตว์อย่างยั่งยืนต่อไป  “หากไม่เปลี่ยนนโยบายวัตถุดิบเตรียมรอรับวิกฤตที่จะเกิดกับภาคปศุสัตว์ต่อไปได้เลย” นายพรศิลป์กล่าวทิ้งท้าย



 

X