Severity: Notice
Message: Undefined offset: 58
Filename: post_share/detail.php
Line Number: 271
"ท่วมอีกแล้วเหรอ... เพิ่งมาทำอะไรตอนนี้... ไม่เตรียมพร้อม... เพิ่งทำรึไง" นี่คือตัวอย่างถ้อยคำตำหนิของคนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง ที่อาจยังไม่เคยทราบการทำงาน แต่วิจารณ์กันโดยใช้ความรู้สึกล้วนๆ และเผลอคิดไปเองว่าเป็นแบบนั้น ผู้คนต่อว่าและโทษสารพัดสิ่งอย่าง แต่ที่โดนเต็มๆ คงเป็นหน่วยงานใดไปไม่ได้ นอกจาก กรุงเทพมหานคร ที่มีสำนักการระบายน้ำดูแลรับผิดชอบเป็นหลัก ผมจึงอาสาหาคำตอบให้ โดยหลังจากฟ้าฝนสงบ ผมได้เดินทางไปที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร2 เขตดินแดง เพื่อเคาะประตูขอข้อมูลและแอบดูว่าในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำเขาทำอะไรกันบ้าง? เป็นอย่างที่เราเข้าใจกันไปเองหรือเปล่า?
ทุกวัน ภายในอาคารสำนักการระบายน้ำ จะมีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับปฏิบัติงาน จนถึงวิศวกรทำงานอยู่ ซึ่งระดับบริหารมีหน้าที่เฝ้าจอคอมพิวเตอร์ คอยดูปริมาณน้ำในสถานีสูบน้ำทุกจุดในกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศและเรดาร์ตรวจอากาศ โดยระดับปฏิบัติการทุกคนจะมีวิทยุสื่อสารที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีเจ้าหน้าที่ประจำการแต่ละสถานีสูบน้ำทุกแห่ง เพื่อคอยตรวจวัดปริมาณน้ำ และรักษาระดับน้ำในคลองให้เป็นปกติ
ยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูฝนจะมีการยกระดับเฝ้าระวังมากกว่าเดิม ขณะที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามนอกจากคอยลอกท่อแล้ว ต้องออกไปเก็บขยะที่ลอยมาติดตะแกรงหน้าเครื่องสูบน้ำทั้งผักตบชวาและขยะ ซึ่งจะมีตารางเวลาและรอบการทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็นทุกวันเป็นปกติ
สำหรับกรณีเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เช้ามืดนั้นมีปริมาณ 174 มม. ถือว่ามากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกรวมตลอดทั้งเดือน(150 มม.) ทำให้เช้าอันสดใสในวันทำงาน และบังเอิญเหลือเกินเป็นวันทะเลโลก(World Ocean Day) กลายเป็นทะเลกรุงเทพฯซะอย่างนั้น ลองคิดภาพตามนะครับ ตักน้ำมาหนึ่งขัน แล้วเทลงหลอดดูดน้ำ (จะใช้หลอดชาไข่มุกเลยก็ได้นะ ไม่ว่ากัน) ยังไงน้ำก็ต้องล้นออกมาครับ แต่พอมาเป็นท่อระบายน้ำจริง น้ำลงไม่ได้ก็ท่วมอยู่บนถนน
สิ่งที่พอจะทำได้คือการเร่งสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำออกเพื่อระบายลงสู่แม่น้ำให้ถนนแห้ง ซึ่งทุกปลายคลองในกทม.ที่ติดแม่น้ำจะมีสถานีสูบน้ำอยู่แทบจะทุกคลอง ยกเว้นบางพื้นที่ของเอกชนอาจจะไม่มี เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสร้าง เช่น ซอย อ.ส.ม.ท. ที่แยกผังเมือง แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถทิ้งได้ ต้องใช้วิธีติดตั้งเครื่องสูบน้ำทดแทน ที่กล่าวมานี้ยังไม่นับปัจจัยพื้นฐานที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และทรุดตัวต่ำลงเรื่อยๆทุกปี ข้อมูลจากกรมแผนที่ทหาร ระบุว่า กรุงเทพมหานคร ทรุดลงปีละ 2 ซม. โดยเฉพาะด้านบางกะปิ และรามคำแหง
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร พบว่า ประสิทธิภาพในการระบายน้ำที่มีอยู่นั้น สามารถใช้ได้จริงมีเพียง 30% หรืออาจน้อยกว่านี้ ซึ่งน่าตกใจนะครับว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากในความเป็นจริงมีทั้งขยะและคราบไขมันจากการประกอบอาหารไปอุดตันตามท่อ ระบายน้ำจำนวนมาก (อ่านเพิ่มได้ที่นี่) ดังนั้นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดของปัญหา"น้ำท่วม" ในกรุงเทพมหานครนั้น คือปัญหา"ขยะและน้ำเสีย" ซึ่งถือเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับผักตบชวาที่เห็นตามคลองอีกด้วย
ถ้าเป็นในต่างประเทศจะมีการแยกท่อและจัดเก็บภาษีในการบำบัดอย่างชัดเจน ต่างกับในกทม. ที่น้ำเสียจากตลาดสด ร้านค้า ร้านอาหารที่ไม่มีบ่อดักไขมัน การซักผ้า ล้างจานของชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่ริมคลอง และยังมีทิ้งทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ เตียง ตุ่มน้ำยังมีเลย
ขยะต่างๆพวกนี้ลอยมาติดหน้าสถานีสูบน้ำ เพราะคนบางกลุ่มมองแค่ว่าปัดๆให้พ้นตัวเองไปก็พอ ซึ่งขยะที่ผู้คนทิ้งลงไปวันละชิ้นสองชิ้น ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำทั้งสิ้น อย่างล่าสุด ตัวเฟืองหมุนของไฟเเช็ค เข้าไปติดตะแกรงดักขยะของเครื่องสูบน้ำ จนเครื่องเกือบจะชำรุดเสียหาย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในการซ่อมแซมอีก ทั้งนี้เครื่องสูบน้ำของทุกสถานี เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ออกแบบและสร้างมาเพื่อรองรับพฤติกรรมการทิ้งขยะในคลองจำนวนมากเช่นนี้
ซึ่งปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครพบว่ามีปีละ 400,000 ตัน หรือเฉลี่ยวันละกว่า 1,000 ตัน แต่สำหรับปีนี้พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกครับ ผู้ว่าฯกทม. ระบุว่าผ่านมาครึ่งปีมีปริมาณขยะแล้ว 300,000 ตัน !!!
ถึงตรงนี้ บางคนก็อาจยังคิดว่าเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร ในการรับผิดชอบขยะนั่นแหละครับ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถูกต้อง แต่ทรัพยากรบุคคลจำนวนเพียงหลักหมื่น ไม่สามารถดูแลประชากรกรุงเทพมหานครจำนวนกว่าสิบล้านได้หรอกครับ ง่ายที่สุดต้องช่วยกัน อาจยังไม่ถึงขั้นแยกขยะหรอกครับ แค่เตือนตัวเองและคนใกล้ตัวทิ้งขยะให้ถูกที่ก็พอ ปัญหาน้ำท่วมจะลดลงอย่างแน่นอน
by อัครวิญญ์ เลิศสดใส
ขอขอบคุณภาพจาก Twitter คุณ @Iw_Eii