!-- AdAsia Headcode -->
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ เดินทางไปยังโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ จากนั้นรับฟังรายงานผลการดำเนินงานโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินโครงการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนส่งและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ เพื่อไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น ซึ่งเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดโดยรอบ โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทรงเป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเป็นโครงการตามพระราชดำริ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา เสด็จฯ ทางชลมารคทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และภูมิพล 2 อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ในแนวถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงย่านอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ยานนาวา กรุงเทพมหานคร และอำเภอสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านโครงข่ายของถนนวงแหวนอุตสาหกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายทางด่วนและถนนเส้นต่าง ๆ
จากนั้น องคมนตรีและคณะ เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำ ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและผลการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 “ให้พิจารณาวางโครงการ และดำเนินการปรับปรุง ขุดลอกพร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ต่อมา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 มีพระราชดำริ “ให้พิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตร ก็ออกทะเลหากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา”
กรมชลประทาน ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการและสำรวจออกแบบปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ในปี 2540 และได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2545 แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2548 และในปีงบประมาณ 2551 กปร. ให้การสนับสนุนงบประมาณ แก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งระบบโทรมาตรประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ระบบสื่อสารข้อมูลและควบคุมทางไกล อุปกรณ์และระบบประมวลผล และอุปกรณ์สถานีตรวจวัดคลองลัดโพธิ์ (อุปกรณ์ระบบโทรมาตร/อุปกรณ์เครื่องมือวัด/งานปรับปรุงก่อสร้างอาคารและติดตั้งอุปกรณ์สถานีสนาม) โดยการดำเนินงานดังกล่าวสามารถทราบถึงคุณภาพน้ำและประสิทธิภาพการระบายน้ำที่แท้จริงของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เพื่อประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม รวมทั้งสามารถบริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ให้ระบายน้ำหลากจากทางเหนือไหลลงสู่ทะเลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงมาถึงจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการมีปริมาณน้ำที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ 1,188.18 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ในปี 2550 กรมชลประทาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และในปี 2551 จึงเริ่มทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ ต่อมาในปี 2553 สำนักงาน กปร. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธยในปี ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจนล์ ในปี 2554 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามสิทธิบัตรดังกล่าวว่า “อุทกพลวัต” มีความหมาย คือ อุทก (น้ำ) + พลวัต (เคลื่อนที่,เคลื่อนไปด้วยแรง) = กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในด้านต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ แบ่งเป็น โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 6 โครงการ โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 2 โครงการ โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข 3 โครงการ โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร 2 โครงการ โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา 2 โครงการ และโครงการพัฒนาด้านบูรณาการ/อื่นๆ 1 โครงการ
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.