!-- AdAsia Headcode -->
วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติพร้อมประกาศนียบัตร ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 2567 ของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี โดยมีนางสาวกฤษณา ทิวาตรี ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ กล่าวต้อนรับ นายปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร ผู้อำนวยการกองแผนงานและยุทธศาสตร์ สำนักงาน กปร. กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริฯ
ในครั้งนี้ มีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ รับโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมประกาศนียบัตร ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสาน ผ่านการประเมิน จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย ด้านเกษตรอินทรีย์ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1) นายโชคดี ตั้งจิตร 2) นายชวัลวิท คล้ายอยู่ 3) นายไมตรี พวงอินทร์ 4) นางสาววาสนา กราบเคหะ 5) นางสมคิด ทองสุข 6) นายสมบูรณ์ ว่องประเสริฐ 7) นางสาวสมหมาย แดงชาติ และด้านเกษตรผสมผสาน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) นางสำเนียง เกตุมณี 2) นายสุกิจ สุภาพงค์ 3) นายสุรัตน์ ฉายแก้ว
โครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริฯ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร โดยสำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและกระบวนการตามหลัก Plan Do Check Act : PDCA จัดทำเป็นคู่มือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ มีศูนย์เรียนรู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว จำนวน 221 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2567 สำนักงาน กปร. ได้ผลักดันการดำเนินงานในหลายมิติ ทั้งในเรื่องการขยายช่องทางการตลาด (Product Champion) จำนวนกว่า 100 รายการ และการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนกว่า 90 รายการ ตลอดจนการเร่งสร้างต้นแบบเกษตรกรที่ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขาฯ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 221 แห่ง
จากนั้น คณะเยี่ยมชมพื้นที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อาทิ ฐานการเลี้ยงไส้เดือนดินและการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลาง แปลงปลูกหญ้าแฝกเพื่อผลิตเวชภัณฑ์ และห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์หญ้าแฝกและพืชชนิดอื่น
ต่อมา เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรอินทรีย์ จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเป็นเกษตรที่ได้รับรับโล่เชิดชูเกียรติในครั้งนี้ ได้แก่ นายไมตรี พวงอินทร์ หมู่ 10 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีฐานเรียนรู้หลากหลาย เช่น อ้อยคั้นน้ำและการแปรรูป การจัดการดิน น้ำ พืช สำหรับเกษตรอินทรีย์ การผลิตถ่านไบโอชาร์ ระบบน้ำอัจฉริยะ และการทำบัญชีแปลง โดยได้เข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ อาทิ การอบรมสุดยอดวัสดุอินทรีย์ในการปรุงดิน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตามแนวคิด BCG Model การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) การตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อนในกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS การเลี้ยงไส้เดือนดิน การแปรรูปสินค้าเกษตรและบรรจุภัณฑ์ การสร้างอัตลักษณ์และเทคนิคการพูดในที่ชุมชน การทำบัญชีฟาร์ม มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีผลผลิตที่โดดเด่น อาทิ น้ำนมข้าวโพด น้ำอ้อยสด น้ำตาลอ้อย และผักหวานป่า
นายโชคดี ตั้งจิตร หมู่ 8 ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีฐานเรียนรู้หลากหลาย เช่น การเลี้ยงแหนแดง การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลาง การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี ระบบน้ำอัจฉริยะ การปลูกผักยกแคร่ โดยได้เข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ อาทิ การอบรมสุดยอดวัสดุอินทรีย์ในการปรุงดิน การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) การตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อนในกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS การเลี้ยงไส้เดือนดิน มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีผลผลิตที่โดดเด่น อาทิ ไข่ไก่อารมณ์ดีมาตรฐานความปลอดโรคจากกรมปศุสัตว์ แหนแดงไมโครฟิลลา ข้าวอินทรีย์มาตรฐาน Organic Thailand ผักสลัดอินทรีย์มาตรฐาน Organic Thailand และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใบทองหลาง