!-- AdAsia Headcode -->

“นวัตกรรมกะโหลกกะลา” สื่อการสอนพื้นบ้าน ปลูกฝังเด็กใส่หมวกกันน็อก - ต้นแบบ “ปลอกแขนสะท้อนแสง” เดินกลับบ้านปลอดภัย หลังประกอบศาสนกิจ

29 ธันวาคม 2567, 11:21น.


      จ.นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีทีมพี่เลี้ยง สอจร. ที่เข็มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน มีการคิดค้น “นวัตกรรมกะโหลกกะลา” เป็นสื่อการเรียนการสอนให้เด็ก ๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.นาเคียน ได้เรียนรู้ถึงอันตรายจากการไม่สวมหมวกกันน็อก และเชื่อมขยายไปยังการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ปกครอง มีการทำงานแบบดาวกระจาย โดยให้ อสม. เคาะประตูบ้านโน้มน้าวให้ทุกคนใส่หมวกกันน็อกเมื่อขับขี่ รวมถึงการประดิษฐ์สายรัดแขนสะท้อนแสง ให้ผู้ขับขี่สังเกตเห็นคนเดินเท้าในเวลากลางคืน ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ได้ปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง



      นางสุวณา พลาสิน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาเคียน กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการจุดประกายรณรงค์ให้เด็ก ๆ สวมหมวกกันน็อก จะได้ไม่บาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุ มึการแจกหมวกกันน็อกให้กับนักเรียน แต่ในช่วงการดำเนินงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ประสบความสำเร็จ 100%  พอเข้าปีที่ 4 จึงได้คิดค้นนวัตกรรมกะโหลกกะลาเข้ามาให้เด็ก ๆ ได้เห็นภาพอย่างชัดเจน เกิดเป็นความตระหนักรู้ว่าไม่อยากให้พ่อแม่ที่บ้านเป็นเหมือนที่คุณครูสาธิต จากนั้นสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ และผู้ปกครองหันมาใส่หมวกกันน็อกกันทุกคน ผ่านคำบอกเล่าว่า “ถ้ามะไม่ใส่หมวกกันน็อก ล้มแล้วจะมีเลือดไหลออกมา เหมือนที่ครูบอก”



      นางจุรีรันต์ นะปิซัน ผู้ปกครอง กล่าวว่า ตั้งแต่โรงเรียนแจกหมวกกันน็อกและรณรงค์ให้ใส่ทุกครั้ง เด็ก ๆ ก็ใส่หมวกกันน็อกมาโรงเรียนทุกวัน และรู้สึกว่าจะขยันมาเรียนมากกว่าเดิม เวลาแต่งตัวเสร็จก็จะรีบไปเอาหมวกกันน็อกมาใส่ก่อนออกจากบ้าน แม้กระทั่งไปหน้าปากซอยก็ใส่ บางทีถ้าแม่ลืมใส่ก็จะไปหยิบมาให้แม่ด้วย เหมือนเป็นความเคยชินไปแล้ว

      นายวัฒนา วาระเพียง ผอ.รพ.สต.บ้านทุ่งโหนด กล่าวเสริมว่า การรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชน และต้องอาศัยระยะเวลา ในการปลูกฝังให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญในการสวมหมวกกันน็อก เช่นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เด็ก ๆ ใส่หมวกกันน็อก ใส่วันแรกอาจไม่สามารถเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของผู้ปกครองได้ แต่เมื่อทำซ้ำ ๆ วันที่ 30 ก็สามารถชักจูงผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญได้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของ รพ.สต. ก็ให้ อสม. เป็นทีมรณรงค์เคาะประตูบ้านและเป็นต้นแบบใส่หมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่ โดยเฉพาะการเดินทางมารับบริการที่ รพ.สต.



      นายรมหลี นุกูล โต๊ะอิหม่ามมัสยิดนูรูลญัลนะ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราก็ได้แต่เตือนให้ระมัดระวัง แต่ไม่มีสัญลักษณ์หรืออุปกรณ์อะไรมาช่วยเสริมความปลอดภัย แต่หลังเกิดเหตุรถชนคนเดินเท้าหลังกลับจากพิธีละหมาด เนื่องจากถนนมืดไม่มีไฟส่องสว่าง จึงได้มีการปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้มาประกอบศาสนกิจที่มัสยิด สรุปว่าเอาแถบสะท้อนแสงมาทำเป็นปลอกแขน เมื่อใส่แล้วเดินแกว่งแขนขยับไปมา คนขับรถก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น



      ด้าน นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. เข้ามามีบทบาท สนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว สิ่งที่เราพยายามสร้างคือเครือข่ายทำงาน ในระดับจังหวัดและเชื่อมโยงไปยังท้องถิ่น ทั้งในระดับอำเภอและตำบล โดยมีแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เป็นทีมเชื่อมประสาน ให้เกิดการบูรณาการผ่านทีมพี่เลี้ยง สอจร. ซึ่ง จ.นครศรีธรรมราช ก็มีทีมพี่เลี้ยงที่เข็มแข็ง เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนงาน

      การดำเนินงานของ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้นแบบการดำเนินงานที่ชุมชนเห็นถึงความสำคัญ ของอุบัติเหตุในพื้นที่ของตนเอง และร่วมกันลุกขึ้นมาทำมาตรการป้องกัน จะเห็นว่าความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลางหรือจังหวัดเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากทีมพื้นที่ที่วางแผนอย่างเป็นขั้นตอน การตั้งเป้าหมายและสื่อสารกับคนในชุมชนอย่างชัดเจน ทำให้ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องของตัวเองและเป็นเรื่องใกล้ตัว

      “โดยทั่วไปคนมักไม่ได้มองว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาในเขตชุมชน แต่จากข้อมูลบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุ ชี้ชัดว่าในช่วงเทศกาลหรือช่วงที่มีการเดินทางหนาแน่น คนเสียชีวิตไม่ไกลจากบ้านในระยะ 5-10 กม. หมายความว่าถ้าคนในชุมชนและท้องถิ่น เข้ามาร่วมทำงานจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” นางก่องกาญจน์ กล่าว

X