วันนี้ (7 มกราคม 2568) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พร้อมด้วยนางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ลงพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานก่อสร้างของทั้งสองโครงการฯ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระหว่าง การดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยมี นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้การต้อนรับ
โดยประธานฯ ได้มีการตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนปฏิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านเสียง น้ำ อากาศ และฝุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยจากการลงพื้นที่ พบว่า รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยในด้านการจราจร อาจมีผลกระทบบ้างจากการปิดกั้นช่องจราจร แต่ รฟม. ได้คำนึงถึงวิธีการก่อสร้างที่ทันสมัยและการจัดการจราจรเพื่อช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรและฝุ่นละออง PM 2.5 ในระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการฯ กำกับและติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) กล่าวว่า รฟม. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด อาทิ การติดตั้งรั้วทึบสูง 2 เมตร ตามแนวพื้นที่ก่อสร้าง การปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในระหว่างรอการใช้งานหรือรอการขนย้าย การทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนด เป็นต้น รวมถึงยังได้จัดให้มีมาตรการเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนด ได้แก่ การทำความสะอาดถนนสาธารณะโดยใช้รถกวาดดูดฝุ่น การติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูง (High Pressure Water System) เป็นต้น นอกจากนี้ รฟม. ยังได้จัดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างตามมาตรการฯ ที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือนทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อควบคุมกำกับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฯ และมาตรการติดตามฯ อย่างครบถ้วน โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044