องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

17 มกราคม 2568, 19:13น.


          นพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 10.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปางคอง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปางคอง และโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแม่ส่วยอู ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวเด็ก จำนวนรวม 53 ตัว และถุงพระราชทาน จำนวน 139 ถุง สร้างความปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสมอมา โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะเยี่ยมชมบอร์ดนิทรรศการผลการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมโครงการฯ รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ และการบริหารจัดการน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำปางคองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 




          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านรวมไทยพัฒนาที่ 1 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 มีพระราชดำริความว่า “ให้หาราษฎรชาวไทยภูเขาที่สมัครใจไปเป็นยาม ตามแนวชายแดน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 มีพระราชดำริเพิ่มเติม ดังนี้


     1) ให้หมู่บ้านยามชายแดน เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่บนภูเขาเพราะชาวเขามีความคุ้นเคยกับการอยู่บนภูเขามากกว่าพื้นราบและเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยพอสมควร

     2) พื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนเป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้เหมือนดังดอยอ่างขาง มีแหล่งน้ำ มีพื้นที่เพียงพอ สำหรับหมู่บ้านประมาณ  40 - 50 ครอบครัว

     3) ขอให้ทหารช่วยฝึกอบรมระบบป้องกันภัยและฝึกการรายงานข่าว เพื่อให้ราษฎรได้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ


     4) มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จะช่วยสนับสนุนอาชีพ และขอแรงงานทหารช่วยในการจัดตั้งหมู่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ราษฎรเป็นชนเผ่าลาหู่จำนวน 40 หลังคาเรือน ประชากรรวม 145 คน มีรายได้จากการรับจ้างทั่วไป ทำการเกษตร อาทิ ข้าวโพด, ถั่ว, กระเทียม และเลี้ยงสัตว์ อาทิ สุกร, โค, กระบือ โดยในปี 2567 ราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือน/ปี  187,480 บาท คิดเป็น รายได้ต่อรายคน/ปี เฉลี่ย 51,718 บาท นอกจากนี้ มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น อาทิ ด้านการคมนาคม ด้านระบบประปา (น้ำอุปโภคและบริโภค) ด้านระบบไฟฟ้า (ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์) และด้านการติดต่อสื่อสาร (ระบบโทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎรในพื้นที่










 


          ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านอาโจ้ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านอาโจ้ และโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านดอยผักกูด ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวเด็ก จำนวนรวม 27 ตัว และถุงพระราชทาน จำนวน 113 ถุง ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะเยี่ยมชมบอร์ดนิทรรศการผลการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมโครงการฯ และรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ






 


          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านเมืองแพม หมู่ที่ 5 ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 4 มีนาคม 2549 ทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปางคอง ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพระราชดำริความว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า ถึง หมู่บ้านปายสองแง่ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร และเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ราษฎรเป็นชนเผ่าลาหู่จำนวน 41 หลังคาเรือน ประชากรรวม 101 คน มีรายได้จากการรับจ้างทั่วไป ทำการเกษตร อาทิ ข้าวโพด, ถั่วลิสง, กระเทียม และเลี้ยงสัตว์ อาทิ สุกร, โค, กระบือ โดยในปี 2567 ราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือน/ปี 96,222 บาท คิดเป็น รายได้ต่อรายคน/ปี เฉลี่ย 39,060 บาท อีกทั้ง มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร อาทิ ด้านการคมนาคม ด้านระบบประปา (น้ำอุปโภคและบริโภค) ด้านระบบไฟฟ้า (ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์) และด้านการติดต่อสื่อสาร (ระบบโทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม) อีกด้วย






 
X