สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับพี่ๆใจดีมอบหมวกกันน็อกสุดเก๋ กว่า 300 ใบ ให้หนูๆ น้องๆ ปลอดภัยทั่วเชียงราย

วันนี้, 13:41น.


      การปลูกฝังพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย โดยเฉพาะการ "สวมหมวกกันน็อก" เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในบริบทสังคมไทย เนื่องจากความเคยชินและความไม่ตระหนักรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดในปี 2566 โดย มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่าย Road Safety Watch พบว่า ค่าเฉลี่ยอัตราสวมหมวกนิรภัยของคนไทย ทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 43% แบ่งเป็นผู้ขับขี่ 48% และผู้ซ้อนท้าย 21% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุ จึงหันมาเริ่มต้นให้ความรู้ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางใหักับเด็ก ๆ เท่านั้น ขณะเดียวกันยังหวังเป็นแรงกระตุ้นไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน หันมาสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งเมื่อขับขี่ เนื่องจากช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 72% และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต 39% ในกรณีที่ใช้ความเร็วไม่สูงมากนัก ที่สำคัญคือลดค่ารักษาพยาบาลและลดจำนวนวันรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ภายหลังการดำเนินงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กเล็ก มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ย 7-8% เป็น 16% แต่ก็พบว่าในหลายพื้นที่ยังขาดแคลนหมวกกันน็อกสำหรับเด็กเล็ก

      เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ความร่วมมือกับ มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน และผู้ชื่นชอบการเล่นกีฬาแบดมินตัน สโมสรกีฬาแบด FUN Saturday บริษัทสปอร์ตอัลติเมทจำกัด ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์กีฬาหลี่หนิง (Li-Ning) และเพจกีฬาจองนาว นำร่องมอบหมวกกันน็อกขนาดเล็ก จำนวน 323 ใบ ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 10 แห่ง 1 โรงเรียน ในจังหวัดเชียงราย นำไปจัดตั้งเป็น ธนาคารหมวกกันน็อก เปิดโอกาสให้ครอบครัวที่ไม่มีหมวกกันน็อกให้กับลูกหลานได้ยืมไปใช้ ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป



      ในพิธีส่งมอบหมวกกันน็อก ‘นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ’ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีนโยบายส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน สอดคล้องกับ #โครงการตีแบดเพื่อหัวน้อง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการผู้ชื่นชอบในการตีแบด และมีความเป็นห่วงเป็นใยเด็ก ๆ ซึ่งได้รวบรวมงบประมาณจัดซื้อหมวกกันน็อก มอบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดเชียงราย นับเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ จังหวัดจะนำหมวกกันน็อกที่ได้รับ ไปทำธนาคารหมวกกันน็อกตามเจตนารมย์ ทั้งการให้ยืมและส่งต่อรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้เด็ก ๆ ปลอดภัยในการเดินทาง



      “ในการเดินทางไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมักขับมอเตอร์ไซค์ แต่ด้วยคิดว่าอยู่แค่ใกล้ ๆ จึงไม่สวมหมวกกันน็อก แต่ในความเป็นจริงอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ มากกว่านั้นการให้เด็กสวมหมวกกันน็อก ยังเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ซึ่งจะสามารถขยายต่อไปยังชุมชนอีกด้วย” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

      ด้าน ‘นางก่องกาญจน์ ทักหิรัญฤทธิ์’ ผู้อำนวยการสำนักการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นสนับสนุนและทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ใน 4 มิติ ทั้งสุขภาพ กาย สุขภาพจิต ปัญญา และสังคม โดยเฉพาะเรื่อง #ความปลอดภัยทางถนน ที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ สสส. เนื่องจากประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 17,000 คน ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ราว 70-80% “แน่นอนว่าบริบทของบ้านเรานั้น คนใช้มอเตอร์ไซค์ยังสวมหมวกกันไม่เยอะ ด้วยหลายเหตุผล เช่น ผมเสียทรง คิดว่าไปแค่ใกล้ ๆ ตำรวจไม่จับ ร้อนอึดอัด สะท้อนจากค่าเฉลี่ยอัตราสวมหมวกของคนไทย เพียง 46% เท่านั้น”



      ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปี พ.ศ.2553-2562 สสส. สนับสนุน มูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจอัตราการสวมหมวกของคนไทย พบว่า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะเด็ก สวมหมวกแค่เพียง 8% แล้วก็เราหยุดสำรวจไปสามปี และกลับมาสำรวจอีกครั้งในปี 2566 พบว่า เด็กไทยสวมหมวกเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 16% ถือว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว น่าจะเป็นข่าวดีที่การที่การทำงานของทุกส่วน ช่วยให้มีเด็กสวมหมวกเยอะขึ้น เพื่อความปลอดภัยของน้องๆเอง

      นางก่องกาญจน์ กล่าวว่า “โครงการตีแบดเพื่อหัวน้อง” ถือเป็นนวัตกรรมการทำงาน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะจัดหาหมวกกันน็อกเอามาให้น้องน้องได้สวมใส่ เพื่อจะช่วยให้ อัตราการสวมหมวกกันน็อกในเด็กของเราเพิ่มขึ้นด้วย แต่สูงสุด คือ อยากเห็นเด็กไทยปลอดภัยเมื่อต้องซ้อนรถจักรยานยนต์ เพราะในเมืองไทยรถจักรยานยนต์ถือเป็นยานพาหนะที่เราใช้กันมากที่สุด เกิน 50% “โครงการตีแบดเพื่อหัวน้อง เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากความชื่นชอบของเครือข่ายที่อยากมีสุขภาพแข็งแรง และสามารถเชื่อมโยงขยายผลนำไปสู่การจัดหาหมวกกันน็อกสำหรับเด็กเล็กได้ ที่ผ่านมาการรณรงค์ในผู้ใหญ่ แม้จะมีอัตราสวมหมวกกันน็อกที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มแบบช้า ๆ การทำในกลุ่มเด็กเล็กทำให้เห็นผลได้เร็วขึ้น ที่สำคัญยังดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนได้ ที่สำคัญไม่มีการต่อต้านจากผู้ใหญ่ เพราะเด็กเป็นศูนย์รวมความรักของพ่อแม่พี่น้องในชุมชน”





      นางก่องกาญจน์ กล่าวว่า การส่งมอบหมวกกันน็อกในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการสวมหมวกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปี 2556 และเป็นต้นแบบเด็กและเยาวชน สวมหมวกนิรภัย 100% รวมถึงจะมีการขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้เด็กทั่วประเทศสวมหมวกนิรภัย #Saveสมอง และป้องกันตัวเอง

สำหรับหมวกนิรภัยขนาดเล็กทั้ง 323 ใบ มอบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 10 แห่งในจังหวัดเชียงราย ได้แก่

1) เครือข่ายของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กป่าก่อดำ  อำเภอแม่ลาว

2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม้ยา อำเภอพญาเม็งราย

3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กม่วงคำ อำเภอพาน

4) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดอยผาหมี อำเภอแม่สาย

5) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดพรหมวิหาร อำเภอแม่สาย

6) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย

7) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปอกลาง อำเภอเวียงแก่น

8) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย

9) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงของ

10) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจันจว้า อำเภอแม่จัน

11) โรงเรียนห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า



X