ประสานความร่วมมือ “ลดอุบัติเหตุถนนไทย” ปักธง 4 มาตรการเร่งด่วนสกัดความสูญเสีย ขณะที่ข้อมูลเผยปีใหม่ 68 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย - ไม่สวมหมวกกันน็อก - ดื่มแล้วขับ พุ่ง !!!

25 มกราคม 2568, 11:30น.


      เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานมอบใบประกาศเกียรติคุณและเข็มเชิดชูเกียรติบุคคล และหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมเน้นย้ำว่า “ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ถือเป็นความท้าทายต่อชีวิตของคนไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมุ่งมั่นทำงานร่วมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”

      นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่เกิดขึ้นกับรถบัสนักเรียน ซึ่งเกิดไฟไหม้จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 23 ราย เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวง แต่ยังเป็นการเตือนใจให้เราทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญ ในการสร้างมาตรการความปลอดภัยทางถนนที่เข้มงวด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น



      “รัฐสภาเล็งเห็นว่าปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เรายังยึดมั่นในแนวคิด Safe System Approach ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบที่ปลอดภัยในทุกมิติ ตั้งแต่ผู้ใช้ถนน ยานพาหนะ ถนน และการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ” ประธานรัฐสภา กล่าว



      ทั้งนี้ การมอบใบประกาศเกียรติคุณและเข็มเชิดชูเกียรติ แก่บุคคลและหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการแสดงออกถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่ง แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและศักยภาพ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กับสังคม และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่สังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

      ด้าน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 กล่าวว่า รัฐสภาได้ร่วมกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุทางถนนได้สร้างความสูญเสียให้กับประเทศไทย เฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก



      นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมาย ตามแผนมีบทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565 - 2570) โดยตั้งเป้าหมายการลดการเสียชีวิตบนถนน ให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร หรือ 8,474 คน ภายในปี 2570 แต่จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 ยังมีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,000 คน แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนไทย ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง

      ดังนั้น นอกจากการตั้งเป้าหมายตามแผนแม่บทข้างต้น และดำเนินมาตรการต่าง ๆ แล้ว ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสัมคม เพื่อดำเนินการตามแนวคิดการแบ่งปันความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหัวใจของแผนปฏิบัติในทศวรรษที่สองนี้ โดยสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ 1. การลดความเสี่ยงในการเดินทาง 2. การส่งเสริมวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัย 3. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และ 4. การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย



      ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นำเสนอผลวิเคราะห์และข้อพิจราณาเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ระบุว่าหากเทียบดัชนีความรุนแรง (severity index: SI) เทศกาลปีใหม่ 2568 ที่ผ่านมา พบว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 42% โดยในจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 17.7 คน ในขณะที่ปีใหม่ 2567 ค่าเฉลี่ยอยู่ 12.4 คน

      นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากความเสี่ยงเชิงพฤติกรรมใช้ความเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมากถึง 81.4% และสวมหมวกนิรภัย 84.7% รวมถึงเกิดอุบัติเหตุเคสใหญ่ ที่มีผู้เสียชีวิต 2 ราย หรือบาดเจ็บ 4 คนขึ้นไป เพิ่มมากขึ้น 75% โดยเป็นรถสาธารณะ 6 ล้อขึ้นไป 26 คัน รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป 12 คัน และรถตู้ 14 คัน

      นอกจากนี้ พฤติกรรม “ดื่มแล้วขับ” ในช่วง 10 วันอันตราย ระหว่าง 27 ธ.ค. 2567 - 5 ม.ค. 2568 ทั้งประเทศถูกจับดำเนินคดีมากถึง 16,651 คดี ในจำนวนนี้เป็นผู้กระทำผิดซ้ำ 160 คดี ซึ่งยังไม่สามารถฟ้องโทษหนักด้วยการส่งฟ้องไปยังศาลจังหวัด จึงอยากให้ทบทวนระบบกำกับการรายงงานผิดซ้ำ เพื่อประกอบกอบฟ้องศาลให้มีโทษหนัก ซึ่งอยากให้ทำให้ทันเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง

      สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น นพ.ธนะพงศ์ เสนอให้ภาครัฐคงมาตรการเข้ม 10 วัน ครอบคลุมช่วงก่อนปีใหม่ (เริ่มหลังคริสต์มาส) ขณะเดียวกันต้องเพิ่มมาตรการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ มุ่งเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงปัจเจก โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงขับเร็ว หลับใน และการใช้อุปกรณ์นินิรภัย ควบคู่กับมาตรการด้านสังคม เช่น ด่านชุมชุมชน ด่านบริการ รวมถึงเพิ่มเติมระบบรายงานอบัติเหตุ นำเสนอทั้งเคสบาดเจ็บ (ER, OPD) และเคส Admit เพื่อให้ ปชช. ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริง





X